พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

การจัดการระบบเสียงในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม 2560 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ที่เปี่ยมด้วยความยิ่งใหญ่และสมพระเกียรตินั้น เป็นห้วงเวลาสำคัญที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยไปตราบนานเท่านาน ไม่เพียงความพร้อมใจของพสกนิกรชาวไทยทั้งชาติที่ได้หลั่งไหลไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อถวายความจงรักภักดีแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่าทั่วประเทศและต่างประเทศทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นวาระประวัติศาสตร์แห่งการรวมพลังความรักความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวครั้งยิ่งใหญ่อีกด้วย ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ต่างทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อปฏิบัติงานถวายแด่พระองค์ท่านอย่างพร้อมเพรียง โดยมีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือ “ที่สุดเพื่อพ่อ” กระทั่งสำเร็จลุล่วงด้วยดีทุกประการ

ภาคส่วนหนึ่งที่มีสำคัญไม่น้อย เห็นจะเป็นฝ่ายปฏิบัติงานด้านระบบเสียงในพระราชพิธีนั่นเอง โดยก่อนหน้านี้ นิตยสารซาวด์ไดเมนชั่นได้นำเสนอไปบางส่วนแล้ว ว่าด้วย “แนวคิดการออกแบบระบบเสียงงานประวัติศาสตร์” ในเขตราชวัติ และครั้งนี้จะเป็นส่วนริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ในริ้วขบวนที่ 1 และริ้วขบวนที่ 2 ก่อนเข้าสู่สนามหลวง โดยมี กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก เป็นแม่งานหลัก ภายใต้การดูแลของพลโท มณฑล ปราการสมุทร เจ้ากรมการทหารสื่อสารริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

การอัญเชิญพระบรมศพจากพระมหาปราสาทไปสู่พระเมรุมาศ หรืออัญเชิญพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศมาสู่พระบรมมหาราชวัง พระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุหรือลอยพระอังคาร ตามโบราณกาลจะอัญเชิญด้วยขบวนพระราชอิสริยยศซึ่งเรียกว่า “ริ้วขบวน” โดยแต่ละริ้วขบวนมีคนหาม คนฉุดชักจำนวนมาก พร้อมด้วยเครื่องประกอบพระอิสริยยศ ได้แก่ เครื่องสูง พระกลด บังสูรย์ พัดโบก บังแทรก พุ่มเงิน พุ่มทอง จามร พระอภิรุมชุมสาย แวดล้อมตามพระราชฐานันดรศักดิ์แห่งพระบรมศพหรือพระศพนั้น ๆ พรั่งพร้อมด้วยเครื่องประโคม เช่น สังข์แตร ปี่ กลองชนะ พร้อมสรรพด้วยโขลนพลโยธาแห่นำตามแซงเสด็จ ทั้งคู่แห่ คู่เคียง เป็นจำนวนมาก

“การจัดริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีขบวนพระบรมราชอิสริยยศจำนวน 6 ริ้วขบวน โดยมีการบูรณะตกแต่งราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ เพื่อให้พร้อมสำหรับการอัญเชิญพระบรมศพ พระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร รวมทั้งซักซ้อมการเคลื่อนขบวนให้งดงาม ประหนึ่งราชรถเคลื่อนบนหมู่เมฆส่งเสด็จสู่สวรรค์หมาย”

การจัดขบวนพระบรมราชอิสริยยศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มี 6 ริ้วขบวน

ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระโกศทองใหญ่ โดยพระยานมาศสามลำคาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ผ่านทางประตูเทวาภิรมย์ จากนั้นใช้เส้นทางถนนมหาราช เลี้ยวเข้าสู่ถนนท้ายวัง มุ่งไปยังถนนสนามไชย เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมล-มังคลาราม รวมระยะทาง 817 เมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เดินตามจังหวะเสียงกลอง โดยการเดินปกติ จัดกำลังพล จำนวน 965 นาย

ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ โดยเกรินบันไดนาค จากหน้าวัดพระเชตุพน-วิมลมังคลาราม ไปทางถนนสนามไชย ยาตราขบวนแห่เชิญพระโกศทองใหญ่ จากถนนสนามไชย เข้าสู่ถนนราชดำเนินใน จากนั้นขบวนพระบรมราชอิสริยยศแห่เชิญพระโกศทองใหญ่เข้าสู่ท้องสนามหลวง รวมระยะทาง 890 เมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เดินแบบเปลี่ยนเท้าประกอบเพลงพญาโศก จัดกำลังพลจำนวน 2,406 นาย

ริ้วขบวนที่ 3 เชิญพระโกศทองใหญ่ลงจากพระมหาพิชัยราชรถ โดยเกรินบันไดนาค ประดิษฐานพระโกศทองใหญ่บนราชรถปืนใหญ่ ตั้งขบวนพระบรมราชอิสริยยศเข้าสู่ราชวัติ เวียนพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ (เวียนซ้าย) 3 รอบ เวียนพระเมรุมาศครบ 3 รอบแล้ว เทียบราชรถปืนใหญ่ที่เกรินบันไดนาคพระเมรุมาศ เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐาน ณ พระจิตกาธาน รวมระยะทาง 260 เมตรต่อรอบ ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีต่อรอบ ใช้เวลา 30 นาที เดินตามจังหวะเสียงกลอง โดยการเดินปกติ จัดกำลังพลจำนวน 781 นาย

ริ้วขบวนที่ 4 เชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระที่นั่งราเชนทร-ยานและเชิญพระบรมราชสรีรางคารขึ้นประดิษฐานในพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย จากพระเมรุมาศเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง เคลื่อนขบวนพระบรมราชอิสริยยศเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ พระบรมราชสรีรางคาร ขบวนพระบรมราชอิสริยยศเชิญพระบรมราชสรีรางคาร โดยพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย แยกเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพักไว้ที่พระศรีรัตนเจดีย์ ขบวนพระบรมราชอิสริยยศเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ โดยพระที่นั่งราเชนทรยาน เข้าประตูพิมานไชยศรี เชิญพระโกศพระบรมอัฐิจากพระที่นั่งราเชนทรยานเข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประดิษฐานที่บุษบกแว่นฟ้าทอง รวมระยะทาง 1,074 เมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เดินตามจังหวะเสียงกลอง โดยการเดินปกติ จัดกำลังพลจำนวน 834 นาย

ริ้วขบวนที่ 5 เชิญพระโกศพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน
บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท รวมระยะทาง 63 เมตร ใช้เวลา 10 นาที เดินตามจังหวะเสียงกลอง โดยการเดินปกติ จัดกำลังพลจำนวน 550 นาย

ริ้วขบวนที่ 6 ขบวนกองทหารม้า เชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษ-ไชยศรี ไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ขบวนกองทหารม้า เชิญพระบรมราชสรีรางคาร จากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปบรรจุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

โดยทุกริ้วขบวนต่างเข้าขบวนและเคลื่อนขบวนไปอย่างมีระเบียบและสง่างาม นำมาซึ่งภาพประวัติศาสตร์ที่เล่าไม่รู้จบ

หลักการออกแบบเสียงสำหรับริ้วขบวน

โจทย์เริ่มต้นของการออกแบบระบบเสียงในริ้วขบวนครั้งนี้ คือ ความแม่นยำ เพื่อให้ทุกจังหวะก้าวเป็นไปอย่างพร้อมเพรียงและสวยงาม โดยหน่วยงานสำคัญที่ทำหน้าที่ในการจัดการริ้วขบวนราชอิสริยยศงานนี้เป็นความรับผิดชอบของกรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก โดยท่านพลโท มณฑล ปราการสมุทร ได้มอบหมายภารกิจทางประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ให้กับทางพันเอก นพดล จิเจริญ ผู้อำนวยการกองการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กรมการทหารสื่อสาร และพันเอก ณัฐธพงษ์ ลักษณียนาวิน นายทหารผู้ชำนาญการกรมการทหารสื่อสาร รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยกองการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก รับหน้าที่ในภารกิจอันสำคัญนี้ โดยมีทีมงานจากหน่วยงานเอกชนอย่าง คุณวรุฒม์ รัตพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบระบบเสียงจากบริษัท ฟิวชั่น ฟาร์ อีสท์ จำกัด ร่วมสนับสนุนในฐานะที่มีประสบการณ์ถวายงานในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์มาก่อนหน้านี้ ทั้งพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช-นครินทร์ ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2551 และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชร-รัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ระหว่างวันที่ 8-12 เมษายน 2555 ครั้งนี้จึงตั้งใจอย่างยิ่ง

“จากพื้นที่ที่รับผิดชอบ คือ ระบบเสียงในริ้วขบวนที่ 1 และริ้วขบวนที่ 2 พบว่า ระยะของขบวนค่อนข้างไกลกว่าสองกิโลเมตร จึงจำเป็นต้องใช้ระบบที่เป็นเน็ตเวิร์ก (Network) และเน็ตเวิร์กที่ว่านี้ต้องเป็นระบบเน็ตเวิร์กที่คล่องตัว มีความยืดหยุ่นสูง พร้อมปรับตัวได้ทันทีทันใด เพื่อรองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วย” คุณวรุฒม์เล่าถึงหลักการออกแบบเบื้องต้น

เมื่อได้รับทราบโจทย์ความต้องการเบื้องต้นแล้ว ทางผู้ออกแบบจึงหลอมประสบการณ์ที่ได้ออกแบบระบบงานพระศพครั้งก่อนมาผสมผสาน ด้านระบบนั้นมีความคล้ายกับระบบเดิม แต่ด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยีบางอย่างเปลี่ยนไป จึงได้ประยุกต์เข้าด้วยกัน ตั้งแต่การรับสัญญาณ การรวมสัญญาณ และการกระจายสัญญาณ

อ่านต่อฉบับเต็ม

กรุณาเข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน สมัครสมาชิกฟรี!!

 

แสดงความคิดเห็น