เปิดใจ Jay Soundgood
ก่อนสัมมนาระบบเสียงเพื่อบ้านเกิด
อ. ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
งานสัมมนาเพื่อบ้านเกิด หัวข้อ “ระบบเสียงพื้นฐานและแนวคิดในการทำงานเบื้องต้น” ที่จะมีขึ้นยังโรงเรียนชะอวดวิทยาคาร อำเภอชะอวด จังหวัด นครศรีธรรมราช ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2561 โดยนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้กับสถานศึกษา เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ต่อไปนั้น ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม งานจะเป็นอย่างไร ต้องไถ่ถามผู้ริเริ่มโดยตรง
คุณเจ-เขมณัฏฐ์ เรืองทองเมือง หรือที่รู้จักกันในนาม “Jay Soundgood”
SD: เส้นทางสู่งานเสียง?
Jay: ผมชอบดนตรีตั้งแต่เด็ก เครื่องดนตรีชิ้นแรกคือคีย์บอร์ดอิเล็กโทนที่พ่อซื้อให้ตอน ป. 5-ป. 6 ตื่นเช้ามาเสาร์-อาทิตย์ดูการ์ตูนก็เอาคีย์บอร์ดมาเล่นด้วยโดยไม่ได้รู้โน้ตอะไร พอเข้า ม. 1 ที่โรงเรียนชะอวดวิทยาคาร ได้เข้าไปฝึกซ้อมกับวงโยธวาทิต โดยมีอาจารย์วรรณวิทย์ ควนวิไล ให้โอกาส ตั้งแต่นั้นมาได้เรียนรู้กับพี่ ๆ นักดนตรี ตั้งแต่ต่อสายพื้นฐานทุกอย่าง กลางคืนก็นอนเฝ้าเครื่องเสียงในหอประชุมและเป็นลูกมือเรื่อยมา ใช้เวลาอยู่โรงเรียนมากกว่าบ้าน ไม่เว้นแม้แต่ปิดเทอม พอมีเวลาว่างก็ขอติดรถของคณะมโนราห์ เสน่ห์น้อย ดาวรุ่ง และมโนราห์ วิเชียร ศรชัย ซึ่งอยู่ใกล้โรงเรียน ไปดูเขาติดตั้งระบบและมิกซ์เสียง หรือเวลาที่วงเอกชัย ศรีวิชัยมาเล่นที่สนามโรงเรียน ก็จะรอดูตลอด จนได้รู้จักพี่อ๊อดมือมิกซ์ของวงเอกชัยฯ พี่เขาใจดี พอเห็นหน้าบ่อยๆ ก็ให้ขึ้นไปดูบนคอนโทรลด้วย อยากรู้อะไรก็ถาม พอกลับมาที่โรงเรียน ด้วยความร้อนวิชาก็ต่อสายต่อลำโพงตั้งเครื่องเสียงปรับทั้งคืน เรื่องทำไฟดับนี่ประจำเลยครับ (หัวเราะ) ตอนหลังพออาจารย์รับงานคาราโอเกะ ก็ได้มีโอกาสไปทำ จนอาจารย์ปล่อยมือ ช่วง ม. 6 ได้เป็นคณะกรรมการนักเรียน ช่วยดูงานดนตรีโรงเรียน จึงได้ทำหน้าที่เหมือนออร์แกไนซ์จัดงานไปด้วย
พอเข้าเรียนระดับปริญญาตรี ที่ มรภ. จันทรเกษม ในสาขาวิชาดนตรีสากลก็เป็น “แก๊งซาวนด์” อาสาทำเครื่องเสียงอีกทุกงาน ยิ่งได้รู้จักอาจารย์อดุลย์ วงศ์แก้ว ทำให้ผมได้เปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดใหม่ ๆ และมีโอกาสเข้าไปสัมผัสระบบเสียงในสตูดิโอ แต่ท้ายสุดก็ค้นพบว่าตัวเองชอบงานด้าน Live Sound มากกว่าผมทำงานตั้งแต่สมัยเรียน งานหนึ่งคือ ดูแลระบบเสียงในร้านอาหารนาทอง แล้วก็มีโอกาสได้เข้าไปทำเสียงให้กับวง Crescendo แทนคนที่ทำประจำ จากนั้นจึงได้ทำเรื่อยมา หลังเรียนจบปริญญาตรี ผมก็เรียนต่อปริญญาโทควบคู่ไปกับเรียนหลักสูตรระบบเสียงกับ พี่เต้-ณัฐพงษ์ สุขะตุงคะ ที่บัตเตอร์ฟลาย จากนั้นพี่เต้ก็ฝากผมกับพี่หมู เท็นเยียร์สฯ ทำให้มีโอกาสทำงานที่บริษัท เท็นเยียร์ส อาฟเตอร์ ออดิโอ จำกัด ระยะหนึ่ง ก็ได้แนวคิดวิธีการทำงานมากมาย แต่ด้วยเหตุที่ยังค้างคาเรื่องวิทยานิพนธ์จึงลาออกไปสานต่อจนสำเร็จ จากนั้นจึงมีโอกาสทำอะไรเต็มที่ ทั้งการเรียนรู้ ใครจัดสัมมนาที่ไหนผมไปหมด และการทำงานที่พี่ ๆ หลายคนจ้างไป โชคดีพี่เวศ-ปราเวศน์ อู่ทอง ชวนไปทำเสียงพี่โจ้-โจอี้บอย ก้านคอคลับถึงทุกวันนี้
SD: ที่มาของสัมมนา?
Jay: เริ่มมาจากวันหนึ่งผมเดินทางไปงานสัมมนาที่ จ. สุรินทร์ ก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในเมื่อเราไปทำหลายพื้นที่แล้ว ลองทำให้บ้านเกิดตัวเองบ้างไหม โดยเฉพาะสถานที่ที่ทำให้ผมเรียนรู้ด้านเสียงมาถึงทุกวันนี้ จึงปรึกษาหลายคนและร่างหัวข้อต่าง ๆ ที่ไม่ยากเกินไป แต่สามารถเรียนรู้ได้ทั้งคนที่มีความรู้หรือยังไม่มีพื้นฐาน เป็นการนำความรู้ทางทฤษฎีเสียงที่เป็นเรื่องยากมาอธิบายให้เป็นเรื่องง่าย และพยายามพิสูจน์ โดยบรรยายและทำให้รู้จริงว่า ถ้ารู้ทฤษฎีแต่ละเรื่องแล้วนำไปใช้จริงหรือแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง
SD:เสียงตอบรับ?
Jay: ตอนแรกตั้งเป้าประมาณ 30-40 คน นั่งคุยกลุ่มเล็ก ๆ ในหมู่เพื่อนพ้องน้องพี่คนทำเสียง มีวิทยากรสามคนคือ ผม พี่บอล-มณฑล สุริยา และน้าโด่ง-ธีรพันธ์ พลรบ หลังจากโพสต์ไปแล้วปรากฏว่า กระแสตอบรับดีมาก โดยผมมีระยะเวลาสองเดือนก็ประชาสัมพันธ์ไปเรื่อย ๆ ผ่านเฟซบุ๊ก แล้วก็แท็กหาพี่ ๆ ที่มีแนวคิดเดียวกับผม ก็มีพี่ ๆ ทางกลุ่มภาคใต้ คือ พี่เป้ หาดใหญ่, พี่โจ้ CSL, พี่เปิ้ล-มานพ, น้องเก่ง-พี่ประทิน และครูเอ้ spk สุราษฎร์ มาเป็น “เจ้าภาพร่วม” ช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ทุกอย่าง เพราะเห็นตรงกันว่านาน ๆ ทีจะมีกิจกรรมเกิดขึ้นทางใต้ จึงช่วยกันเต็มที่ ยิ่งปรึกษาอาจารย์ด้านสถานที่รองรับได้ จึงขยายเป็น 120 คน พอโพสต์ถี่ ๆ ขึ้น ทางทีมแสงก็แสดงความสนใจให้จัดเรื่องของแสงด้วย แต่เมื่อดูเวลาหนึ่งวันแล้วตารางแน่นมาก ขยายเป็นสองวันได้ สถานที่ วิทยากร และอุปกรณ์ที่จะสนับสนุนพร้อม แต่ปรากฏว่า ผู้สนใจด้านแสงไม่มากนัก ปีนี้จึงเป็นเฉพาะเรื่องเสียงก่อน
SD: 26 พฤษภาคมนี้ ผู้สัมมนาจะได้พบกับอะไรบ้าง?
Jay: แน่นอนคือการสัมมนา บูธสินค้า เช่น ยามาฮ่า, Behringer, HK Audio เป็นต้น ส่วนระบบเสียงเวทีหลักเป็นลำโพง VL AUDIO VEDA Series จาก ทาง V.L. Sound & Light นำ ส่วนเวทีใหญ่ ช่วงค่ำ “ดิจิตคอนโทรล” นำบอร์ด midas Pro6 ให้พี่น้องคนเสียงได้เห็นกัน รวมถึง YAMAHA CL5 โดยบังชาลี-อัสรีย์ ฤกษ์สิน และทีมยามาฮ่าคอยดูแลให้ข้อมูลเรื่องการทำงานบอร์ดดิจิทัลมิกเซอร์
สีสันของงานที่ฮือฮากันมาก คือ เดโมลำโพงหลากหลายแบรนด์ ร่วม 10 ยี่ห้อ ตรงนี้ต้องบอกว่า เป็นการมาช่วยกัน ซึ่งอุปกรณ์พวกนี้ทางพี่ ๆ เจ้าภาพร่วมมีของอยู่แล้ว ก็ยกมาออกงานเพื่อสีสันความสนุก มาตรฐานการเดโม ผมจะเตรียมเพลงให้ ทุกคนจะได้รับซอร์สเสียงจากมิกเซอร์ตัวเดียวกันทั้งหมดทุกเจ้า ที่จะแตกต่างคือ คัลเลอร์ของลำโพงและมุมกระจายเสียงที่เราได้เรียนรู้มา แล้วผมก็ได้ทำความเข้าใจกับพี่ ๆ แต่ละท่านไปแล้วถึงเจตนาในการเดโม จะไม่มีการแข่งขัน พยายามให้เป็นไปตามเนื้อหาสัมมนา ส่วนเดโมถ้าใครสนใจเพิ่ม ก็สามารถฟังต่อช่วงงานเลี้ยงได้ แต่ก็ทำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สำคัญคือทุกคนเข้าใจตรงกันว่า จุดประสงค์หลักคือ สร้างสีสันและเรียนรู้ ฟังน้ำเสียงกัน ไม่มีเรื่องธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง หวังว่าคงจะไม่มีประเด็นอะไร แต่ตอนนี้ก็เตรียมใจไว้ส่วนหนึ่ง จัดไปแล้วเกิดปัญหาหรือมีเรื่องราวดรามาอะไรมา
ผมก็ต้องยอมรับสภาพ แต่เมื่อตั้งใจดีแล้วก็ต้องทำให้ได้
SD: การเรียนรู้สำคัญอย่างไร?
Jay: สำหรับผมการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดจริง ๆ ครับ ทุกวันนี้ตัวผมเองหยุดนิ่งไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีทุกวันนี้มันไปเร็วมาก เราทำงานกับเรื่องอุปกรณ์พวกนี้ เราต้องเรียนรู้ให้ทัน ถึงจะไม่เก่ง ไม่สมบูรณ์ 100% แต่อย่าหยุดที่จะเรียนรู้ ถ้าหยุดก็ถือว่าเราก้าวช้ากว่าคนอื่นไปหนึ่งก้าว และสามารถเรียนรู้ได้จากหลาย ๆ ที่ ถึงแม้ไม่ใช่จากงานสัมมนา แต่สื่อต่าง ๆ อย่างเว็บไซต์ของแต่ละแบรนด์ที่เราศึกษาได้โดยตรง ถ้ามีเวลาผมก็จะไปร่วมสัมมนาเสมอ อย่างเรื่องแสงบางทีก็ไม่รู้หรอกว่า เขาพูดอะไรในภาษาแสง แต่คิดว่าต้องมีสักเรื่องล่ะที่เกี่ยวกับเรา หลายอย่างเราสามารถเรียนรู้ไปด้วยกันและทำงานร่วมกันได้ แล้วก็ทำตัวเหมือนชาไม่เต็มแก้ว ก็จะได้ความรู้เรื่อย ๆ ครับ