The Science of Music ตอนนี้คุณวิทู ประชานุรักษ์ แห่ง V2 พาไปรู้จักเรื่องราวของ โดรน ไม่ธรรมดา นอกจากเรื่องของความมั่นคง การขนส่งอะไรต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ด้านงานอีเวนต์ยุคใหม่อีกด้วย
โดรนมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วนคือ ตัวอากาศยานไร้คนขับ (UAV), ส่วนควบคุมภาคพื้นดิน (Ground-Based Controller), และ ระบบการสื่อสารระหว่างทั้ง 2 สิ่ง (Communication System) ซึ่งการควบคุมนั้นทำได้ทั้งระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และมนุษย์เป็นผู้ควบคุม งานหลักที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับงานที่น่าเบื่อ สกปรก หรืออันตรายสำหรับเรา หากจะพูดถึงประวัติในด้านการรบและการทหารก็มีการใช้งาน UAVs กันมาตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ครับ แต่ที่ใกล้ตัวเราและจับต้องได้มากที่สุดก็คงเป็น โดรน ที่ใช้ในงานถ่ายภาพทางอากาศและเก็บข้อมูลต่าง ๆ
มาถึงโดรนที่ใช้ในปฏิบัติการของสหรัฐในครั้งนี้ มีชื่อว่า General Atomics MQ-9 Reaper (เอ็มคิว-9 รีปเปอร์) หรือบางครั้งเรียกว่า Predator B ที่ชาวโลกเพิ่งได้รู้จักจากเหตุการณ์ใหญ่เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมานี้ จริง ๆ แล้วเริ่มทดสอบบินครั้งแรกเมื่อปี 2001 หรือประมาณ 19 ปีที่แล้วละครับ ซึ่งเจ้า MQ-9 Reaper นี้ถือเป็นอากาศยานควบคุมระยะไกลแบบติดอาวุธครบ บินในระดับความสูงปานกลาง (ประมาณ 50,000 ฟุต) โดยเจ้า Reaper นี้มีงานหลักคือการสังหารเป้าหมายแบบเฉียบพลัน อีกทั้งยังสามารถใช้เก็บข้อมูลต่าง ๆ ได้อีกด้วย
เจ้า MQ-9 Reaper ตัวนี้ได้รับฉายาว่าเป็นหนึ่งในอาวุธที่น่าเกรงขามที่สุดในโลกด้วยหลายองค์ประกอบที่ถูกพัฒนาขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นรัศมีการบินที่ไกลถึง 1,150 ไมล์ หรือ 1,852 กิโลเมตร เพดานบินสูงสุดที่ 50,000 ฟุต (15,240 เมตร) ชั่วโมงปฏิบัติการนานถึง 14 ชั่วโมง ในขณะที่บรรทุกน้ำหนักสูงสุด โดยที่กองทัพของสหรัฐใช้ปรับปรุงให้บรรทุกเชื้อเพลิงได้มากขึ้น สามารถบินได้นานถึง 49 ชั่วโมงเลยทีเดียว อีกทั้งยังสามารถติดตั้งขีปนาวุธอากาศสู่พื้นดิน และอากาศสู่อากาศได้อีกด้วย รวมไปถึงความเงียบจากการใช้เครื่องยนต์ใบพัดเดี่ยวซึ่งแม้จะบินอยู่เหนือเป้าหมายในระยะ 250 – 300 เมตร ยังแทบจะไม่ได้ยินเสียง ทำให้การลอบโจมตีมีประสิทธิภาพมากและยากจะป้องกัน
สรุปมาแบบไม่ได้เจาะลึกมากนะครับ เพื่อเป็นเกร็ดความรู้ที่ทันกับสถานการณ์ของโลก เพราะก่อนหน้าเหตุการณ์นี้ ก็มีเรื่องที่น่าสนใจและน่ายินดีหยิบมาเล่าเช่นกันครับ จริง ๆ คือเป็นเหตุที่ผมสนใจว่าจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับโดรนในฉบับนี้เลยครับ นั่นคือมีเด็กไทยคนเก่งชื่อ น้องมิลค์ วรรรญา วรรณผ่อง แชมป์โลกโดรนขวัญใจชาวไทย วัย 12 ปี ชนะเลิศโดรนเรซซิ่งชิงแชมป์โลก ประเภทหญิง รายการ “2019 FAI WORLD โดรน RACING CHAMPIONSHIP GRAND FINAL” ที่เมืองหนิงโป สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทำเวลามาเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 55.739 วินาที และคว้าแชมป์โลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ประมาณปีเศษ น้องได้แชมป์โลกและเป็นแชมป์ที่อายุน้อยที่สุดอีกด้วย โดยสื่อให้ฉายาน้องว่า “มิลค์ หน้านิ่ง” จากการที่น้องมีสีหน้าที่นิ่งเฉยตลอด แม้กระทั่งช่วงสัมภาษณ์สื่อ น้องก็ยังตอบคำถามแบบหน้านิ่ง ๆ ตามสไตล์ของน้องครับ
จากสองเรื่องที่เล่ามา อาจจะพอทำให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับ โดรน มากยิ่งขึ้น ช่วงท้ายของเรื่องราวในหัวข้อนี้จะสรุปแยกเป็นข้อ ๆ สำหรับการนำ โดรน มาใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ นะครับ
1. AERIAL PHOTOGRAPHY – น่าจะค่อนข้างคุ้นเคยกันดี และมีใช้ในงาน Events, Broadcasts รวมไปถึงการถ่ายทำภาพยนต์ด้วย
2. SHIPPING AND DELIVERY – ปัจจุบันเราคุ้นเคยกับมอเตอร์ไซค์ส่งของกันเป็นอย่างดี ด้วยความสะดวกรวดเร็ว แต่ในไม่ช้าอาจจะถูก โดรน เข้ามาแทนที่ ซึ่งในต่างประเทศ บริษัทยักษ์ใหญ่ Amazon, UPS, DHL ก็เริ่มมีการใช้งานกันแล้ว
3. GEOGRAPHIC MAPPING – โดรนสามารถรับข้อมูลความละเอียดสูงและดาวน์โหลดภาพในสถานที่ที่เข้าถึงได้ยากเช่นแนวชายฝั่ง ภูเขา และเกาะต่าง ๆ และยังใช้ในการสร้างแผนที่ 3 มิติได้ด้วย
4. DISASTER MANAGEMENT – ใช้ความสามารถของกล้องความละเอียดสูง เซ็นเซอร์ และเรดาร์ เพื่อช่วยตรวจสอบพื้นที่ในบริเวณที่เกิดภัยพิบัติ
5. PRECISION AGRICULTURE – ใช้ โดรน ที่ติดตั้งเซ็นเซอร์อินฟาเรดเพื่อตรวจสุขภาพของพืชผลที่ปลูก วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับปรุงสภาพพื้นที่เพาะปลูก การเพิ่มปุ๋ยและยาฆ่าแมลงในพื้นที่ที่ต้องการได้อย่างถูกต้องและแม่นยำเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
6. SEARCH AND RESCUE – ติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อนช่วยให้สามารถมองเห็นได้ในเวลากลางคืน และสามารถเข้าถึงในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก รวมถึงสามารถส่งเสบียงและยาเข้าไป ก่อนที่จะสามารถย้ายผู้ประสบเหตุ หรือประสบภัยไปยังจุดอื่นได้
7. WEATHER FORECAST – เราสามารถส่งโดรนเข้าไปยังพื้นที่ที่สภาพอากาศอันตรายหรือแปรปรวน คาดการณ์ไม่ได้ เช่นภายในพายุเฮอริเคน หรือทอร์นาโด เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์และนักพยากรณ์อากาศสามารถทราบข้อมูลภายในพายุและเก็บเป็นข้อมูล เพื่อป้องกันเหตุ
8. WILDLIFE MONITORING – ทั้งสำรวจและปกป้องพิทักษ์สัตว์ป่า โดรนสามารถทำงานได้ทั้งกลางวันกลางคืน เข้าถึงพื้นที่โดยไม่รบกวนสัตว์ป่า และยังสามารถใช้เพื่อตรวจสอบผู้ที่บุกรุกและล่าสัตว์ป่าได้
9. LAW ENFORCEMENT – ช่วยในงานลาดตระเวนชายแดน ตรวจสอบการขนส่งสิ่งผิดกฎหมาย ยาเสพติดรวมไปถึงการกระทำที่ผิดกฎหมาย
10. ENTERTAINMENT – เทคโนโลยีของโดรน เข้ามามีส่วนในอุตสาหกรรมบันเทิงแล้ว ทั้งในเรื่องของการแข่งขันเป็นกีฬา ดังที่ได้เล่าไปก่อนหน้านี้ รวมไปถึงการใช้โดรนสำหรับการแสดงและประกอบเทคนิคต่าง ๆ รวมไปถึงการนำมาประยุคใช้ในงาน Events
ในอนาคตอันใกล้ เชื่อว่าโดรนจะเข้ามาเป็นอีกส่วนสำคัญในงานด้านต่าง ๆ ในประเทศเราอย่างแน่นอน รวมไปถึงสายงานของพวกเราด้วยครับ ซึ่งจะขออนุญาตยกไปติดตามกันต่อในฉบับหน้านะครับ เผื่อเป็นไอเดียนำมาสร้างโชว์ที่แตกต่าง หรือช่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น