หลากหลายในทรงจำรำลึก
“เนี้ยว-พิชัย แซ่โง้ว”
Sound Engineer ผู้ให้ความสำคัญ
กับการเรียนรู้และงานจากรุ่นสู่รุ่น

ข่าวร้ายปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ทำให้คนในวงการโพรดักชันแสง เสียงต่างเศร้าไปตาม ๆ กัน เมื่อ พิชัย แซ่โง้ว หรือ “เนี้ยว เจเอสเอส โปรดักชั่น” Sound Engineer สุดยอดฝีมือคนหนึ่ง จากไปด้วยวัยเพียง 53 ปี ถือเป็นการสูญเสียบุคลากรคนสำคัญอีกคนของวงการโพรดักชันไทยไปอย่างน่าเสียดาย

53 ปีของชีวิตดูเหมือนแสนสั้น แต่สำหรับชีวิตด้านการงานแล้วยาวนานเกือบทั้งชีวิตก็ว่าได้กับการได้ทำงานที่รักที่ชอบ เนี้ยว-พิชัย แซ่โง้ว หรือ “เลี้ยว” ชื่อที่คนในครอบครัวเรียกขาน เป็นคนเมืองชลฯ เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2509 ที่ จ. ชลบุรี มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน แต่มีเพียงพี่เนี้ยวหรือเลี้ยว ลูกคนสุดท้องของอาป๊ากิมฮั้งกับอาม้าล้วนเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เดินทางสายงานเสียง ถึงแม้บรรดาพี่ ๆ จะแปลกใจกับเส้นทางแตกต่างที่น้องชายได้เลือกทำมาตลอดชีวิต แต่ก็ซึ้งใจในความรักความมีน้ำใจของ “เจ๊กเลี้ยว” ในการดูแลครอบครัวและหลาน ๆ จนเติบใหญ่เสมอมา

พี่เนี้ยวเป็นคนที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรแล้วก้าวสู่เป้าหมายนั้น เพียงวัย 17 ปี หลังจบ ม. 6 จากโรงเรียนชลราษฎรอำรุง ก็เริ่มทำงานแรกในชีวิตด้วยการเปิดห้องซ้อมเล็ก ๆ ที่เมืองชลฯ กับเรย์-ซาวด์มาร์ก หรือประสพสุข จิตเป็นธม เพื่อนรุ่นพี่ เด็กห้องแถวเดียวกันในชื่อ PS Sound และบริษัทเรนทัลให้เช่าระบบเสียงเล็ก ๆ ในชื่อเดียวกัน กระทั่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น Sound Mark จากนั้นกระโดดขึ้นรถบริษัท Jack Sound ตามคำชวนของ พี่แจ๊ค-เจษฎา พัฒนถาบุตร ไปทัวร์คอนเสิร์ตตามจังหวัดต่าง ๆ นานถึง 6 เดือน ถึงได้เข้าไปที่บริษัท เริ่มบรรจุงานตั้งแต่ 1 เมษายน 2535 เป็นต้นมา ในตำแหน่งพนักงานทั่วไป, เทคนิเชียน, ซาวนด์ เอนจิเนียร์ ประจำเฮาส์ โดยมีตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ และกรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท เจเอสเอส โปรดักชั่น จำกัด

ด้วยใจรักด้านเสียง ตลอด 26 ปีมีโอกาสทำงานใหญ่มากมาย โดยได้รับมอบหมายจาก พี่แจ๊ค-เจษฎา พัฒนถาบุตร ทั้งคอนเสิร์ตไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะคอนเสิร์ตต่างประเทศนั้น ได้รับหน้าที่ในการประสานงานและรองรับเรื่องของซิสเตมเทคนิคให้กับทีมโพรดักชันต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่งานคอนเสิร์ตไทยเองก็มีไม่น้อย โดยพี่เนี้ยวเข้าถึงคำว่า “ปิดทองหลังพระ” อันเป็นหัวใจของทีมงานเบื้องหลังอย่างยิ่งยวด คอยเป็นพี่ใหญ่ในการบริหารจัดการแก้ปัญหาให้กับทีมงานระบบเสียงต่าง ๆ จนราบรื่น นำมาซึ่งความอุ่นใจ-มั่นใจให้กับบรรดาพี่ ๆ น้อง ๆ ที่ได้ทำงานร่วมด้วย ในเวลาเดียวกันก็ยังเป็นพี่และครูของน้องๆ ทีมเสียงของแจ๊คซาวด์และเจเอสเอสโปรดักชั่นมาต่อเนื่องหลายรุ่น คอยดูแลหลาย ๆ เรื่อง จนน้อง ๆ ทีมงานยกให้เป็นที่พึ่งทางใจด้วยความรักและไว้วางใจ อีกทั้งสอนสั่ง สนับสนุนและให้โอกาสกับน้อง ๆ ทีมงานหลายคนได้พัฒนาศักยภาพฝีมือจนก้าวสู่ตำแหน่ง Sound Engineer ในวงการหลายคน

นิตยสารซาวด์ไดเมนชั่นขอเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลังของพิชัย แซ่โง้ว Sound Engineer ผู้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และงาน จากพี่ ๆ น้อง ๆ ส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับพี่เนี้ยว สู่คนอีกรุ่นได้รับรู้และปรับใช้ใน “วิถีแห่ง Sound Engineer” ที่แท้แห่งยุคสมัยหนึ่ง

แบบอย่างในเรื่องของ “การให้”
เรย์ ซาวด์มาร์ก-ประสพสุข จิตเป็นธม

เพื่อนร่วมห้องแถวเดียวกัน เติบใหญ่ เรียนรู้ เปิดห้องซ้อมดนตรีเล็ก ๆ ด้วยกันที่บ้านเกิดชลบุรี คนหนึ่งเป็นรุ่นพี่อายุ 19 ปี ใกล้จบจากเทคนิคชลบุรี “เรย์-ประสพสุข” ส่วนอีกคนอายุ 17 ปี เพิ่งจบจาก ม.6 อายุ 17 ปี ไม่ได้เรียนต่อ จึงทำงานแรกในชีวิตร่วมกัน “PS Sound” เป็นห้องซ้อมดนตรีที่วัยรุ่นเมืองชลฯ ช่วงปี 2526-2530 น่าจะรู้จักกันดี ภายหลังทั้งคู่เปลี่ยนเป็นกิจการให้เช่าอุปกรณ์ระบบเสียงชื่อเดียวกัน ก่อนแยกย้ายกันไปตามความชอบความถนัดของตนเอง ขณะที่รุ่นพี่ก้าวสู่ธุรกิจค้าขายด้านระบบเสียงในนาม Sound Mark โดยมีรุ่นน้องมีส่วนในการคิดชื่อให้จนถึงทุกวันนี้ ส่วนอีกคนเดินทางตามฝันทำงานด้านระบบเสียง

“มันมีช่วงที่น่าจดจำที่สุดช่วงหนึ่งคือ ผมกับเนี้ยวมานั่งแปลเอกสารตำราที่เกี่ยวกับเครื่องเสียงด้วยกันเกือบทุกคืน จากทุกอย่างที่เราจะหาได้ เพราะสองปีที่เราเริ่มกันมา เรารู้ตัวกันว่า พื้นฐานของเรายังไม่เพียงพอ ผมกับเนี้ยวจึงนั่งแปลตำราทุกอย่าง เปิดดิกชันนารีกลางคืนสองคน เพราะผมพักอยู่กับเขาเลย รวมเวลาที่แปลเอกสารพวกนี้น่าจะ 3-4 ปี เกือบทุกคืนที่ไม่ได้ออกไปเที่ยว เราใช้เวลาว่างตรงนี้แปลตำรากัน ตอนนั้นมีพวกตำรานิตยสารฝรั่งนี่แหละที่เป็นครู เพราะมันเป็นจริงกว่าและตรงมากกว่า อาศัยรุ่นพี่ ๆ ให้หยิบยืมหนังสือมา ‘เรย์–เนี้ยวเอานี่ไปดู’ บทความที่ดีอะไรต่าง ๆ เมื่อก่อนหายากมาก พอได้มาเราก็ช่วยกันแปล

“ตั้งแต่วัยหนุ่มที่รู้จักกันมา ผมขอชมเนี้ยวเลยนะ นิสัยส่วนตัวของเขาเป็นคนที่ชอบให้ เขาให้ทุกอย่างกับทุกคน เท่าที่เขาให้ได้ เขาไม่เคยคิดร้ายกับใครเลย ตั้งแต่เด็ก ๆ ตัวกะเปี๊ยกวิ่งเล่นด้วยกันมาในก๊วนกลุ่มห้องแถว เนี้ยวจะเป็นคนที่มีจิตใจที่เรียกว่าขาวเลยนะ แล้วชอบให้ ไม่ได้นึกถึงผลประโยชน์ว่าต้องได้อะไรตอบแทน เขาเป็นคนที่ให้แล้วทำอย่างนี้มาตลอด นอกจากนี้ยังให้ความรู้และประสบการณ์กับคนรอบข้าง ในช่วงที่เราทำกันเป็นห้องซ้อมดนตรีจนมาถึงเรนทัล ก็มีลูกน้องผ่านเข้าออก เนี้ยวก็เป็นครูให้พวกเขาในการถ่ายทอดวิชาสอนเรื่องต่าง ๆ เนี้ยวเป็นแบบอย่างในเรื่องของการให้ ส่วนฝีไม้ลายมือไม่ต้องพูดถึง เพราะว่าพวกเราไม่มีหยุดอยู่แล้ว ในการเรียนรู้ตั้งแต่วัยหนุ่มเป็นต้นมา ก็ชัดเจน

“ถึงทุกวันนี้ เวลาที่พูดถึงเนี้ยว ก็จะนึกถึงช่วงนั้นที่นั่งกันตีสามตีสี่เปิดตำราแปลด้วยกัน นั่นคือภาพจำของผมกับเขาเลยล่ะ สองคนนั่งกันเงียบ ๆ แล้วก็แปล ๆ แปล ๆ ทุกอย่าง ขวนขวายเก็บทุกอย่างเท่าที่พอจะเป็นประโยชน์ได้ อย่างที่เขาว่า ‘การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด’ นั่นแหละครับที่เรายังยึดถืออยู่”

“คนที่เจเอสเอสฯ ภาคภูมิใจที่สุด….”
แจ๊ค-เจษฎา พัฒนถาบุตร

Jack Sound Systems ก่อตั้งในปี 2529 เป็นอีกบริษัทยุคบุกเบิกด้าน Sound Rental ระบบเสียงสำหรับอุตสาหกรรมบันเทิง โดย แจ๊ค-เจษฎา พัฒนถาบุตร Freelance Sound Engineer ผู้สร้าง
ชื่อเสียงมาจากการทำงานเสียงให้กับศิลปินและบริษัทโพรดักชันดังแห่งยุคสมัยนั้น ไม่ว่า Nite Spot หรือ Media Plus ท่ามกลางคอนเสิร์ตต่างประเทศที่ถาโถมมาแสดงในประเทศไทยอย่างล้นหลาม ทำให้ขุนพลเสียงในบ้านหลังนี้ฝึกปรือฝีมือได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นที่ไว้วางใจของค่ายเพลงไทยในการเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตอีกด้วย การเดินทางไปทำงานครั้งหนึ่งที่จังหวัดชลบุรีนั้นเอง ทำให้พี่แจ๊คได้เจอกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่คุยกันไม่กี่คำ เด็กหนุ่มคนนั้นก็กลับบ้านไปเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าเดินสายทัวร์กับ Jack Sound Systems ต่อเนื่องยาวนาน กระทั่งบริษัทเปลี่ยนชื่อเพื่อขยายงานรองรับโพรดักชันที่ใหญ่ขึ้นในนาม JSS Production เขาก็ยังมุ่งมั่นทำงานที่เขารักอย่างไม่เปลี่ยนแปลง และกลายเป็นมืออะไลน์เมนต์คอนเสิร์ตอันดับต้น ๆ ของบริษัท ที่ได้ความไว้วางใจสูงสุดจากคนที่เป็นทั้งเจ้านาย พี่ และครู ให้ทำงานใหญ่มากมายนับไม่ถ้วน

“เนี้ยวเป็นคนที่เจอตั้งแต่แรกโดยไม่คาดหวังจะได้เจอเขาเลยนะ ตอนนั้นผมทำทัวร์คอนเสิร์ตแกรมมี่ ซึ่งคอนเสิร์ตทัวร์ยุคนั้นจะมาเริ่มที่จังหวัดชลบุรีก่อน ที่หน้าศาลากลาง จำได้ว่าทุกครั้งที่มาทำคอนเสิร์ตที่ชลบุรี ระหว่างที่ผมทำงาน ผมจะเห็นเด็กคนหนึ่งมาดูอยู่ข้างล่างเวทีตลอด ก็คือเนี้ยว ดูผมทุกงานทุกคอนเสิร์ตเลย จนกระทั่งมีน้องคนหนึ่ง คือ คุณโค้ย วารินมิวสิค (สมสุข สมรรถวิทยาเวช) รู้จักกันที่ชลบุรี ก็เข้ามาหาบอกว่า ‘พี่แจ๊คจำเด็กคนหนึ่งได้ไหม ที่มายืนดูตลอด เขาอยากทำงานกับพี่’ ผมก็ถามว่า ‘แต่เดิมทำอะไรอยู่?’ เขาก็บอกว่าเป็นคนที่
รู้เรื่องเทคนิคเครื่องดนตรีนะ แต่เขาดูแลในคลับในบาร์อยู่ ผมก็บอกกลับไปว่า ‘แล้ววันนี้มาหรือเปล่า ถ้ามาก็ขึ้นมาคุยกันสิ’

“พอมาถึง เขาก็ไม่กล้า ผมก็เรียกมาคุย ให้ดูอยู่ที่ข้างบนเฮาส์เลย ว่าเราทำอะไรกันบ้าง แล้วผมก็ถามว่า ‘อยากทำอย่างนี้จริง ๆ หรือ?’ เขาก็ตอบ ‘จริงครับ’ ก็เลยถามต่อว่า ‘แล้วเริ่มทำได้เมื่อไหร่?’ เขาบอก-ได้เลย ‘ถ้าได้เลยก็ไปเก็บเสื้อผ้ามา เดี๋ยวไปกับทัวร์เลยนะ’ แล้วเขาก็ไปเก็บเสื้อผ้ามากับทัวร์จริง ๆ ระหว่างนั้นทัวร์คอนเสิร์ตจะเยอะ พอเสร็จจากศิลปินคนนี้ ก็ต่ออีกศิลปินหนึ่ง รวมแล้วหลายคน จนมาทุเลาหน้าฝน เนี้ยวทำงานกับผมครั้งแรก 6 เดือนยังไม่เห็นออฟฟิศเลย เพราะแต่ละที่มาถึงทำงาน จบแล้วก็กลับไปพักเป็นอย่างนี้ตลอด

“หลัง ๆ พอเริ่มเข้าออฟฟิศ เขาก็เริ่มมาเรียนรู้อะไรต่าง ๆ มากมาย แต่เนี้ยวเป็นคนใฝ่รู้ มีความพยายามทุกอย่าง ทั้งวิชาการ ภาษาอังกฤษ หัดพูดหัดอะไร เขาก็เติบโตมาเร็ว เป็นคนที่ทำงานทรหดมากคนหนึ่ง
ผมบอกได้เลยว่า ตั้งแต่เจเอสเอสฯ มีบุคลากรมาจนปัจจุบันนี้นะ ถามทุกคนได้เลย เนี้ยวเป็นคนดีที่สุด เขาเป็นคนที่เกิดมาเพื่อตรงนี้เลย เป็นคนดีจริง ๆ ผมก็ดีใจ เขาอยู่กับผมมาจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

“ในการให้โอกาสแต่ละคน ผมก็พยายามเทรนขึ้นมา ตอนแรก ๆ ผมขายด้านทักษะของตัวเอง ทุกคนจะเรียกให้ผมไปมิกซ์ให้ แล้วตอนหลังงานมันเยอะมาก ทำคนเดียวไม่ไหวต้องช่วยกัน เลยเริ่มสอนเนี้ยวให้ดูแลลูกค้าเป็นกลุ่ม ๆ ไป เนี้ยวเก่งมาก ทำได้ดี แล้วเนี้ยวก็สอนต่อไปอีกสอง-สามเจนเนอเรชัน ซึ่งเป็นคนมีชื่อเสียงทั้งนั้นเลย น้อง ๆ รุ่นเก่า ๆ ที่เป็น Sound Engineer ของศิลปินรุ่นใหม่ทั้งหลายก็เป็นน้อง ๆ ที่เนี้ยว เนี้ยวเป็นคนให้โอกาสคน เนี้ยวเป็นคนที่อยู่ในวงการที่ไม่มีใครเกลียดเลย ทุกคนรักเขาหมดเลย หลาย ๆ คนที่เนี้ยวเคยสอนถึงแม้อยู่ห่างไป แต่ทุกคนก็จะเรียก ‘อาจารย์เนี้ยว’ อยู่เสมอ

“เนี้ยวเป็นคนเก่ง ไม่ว่าเรื่องเทคนิคหรืออะไร เขาเรียนรู้ตลอดเวลา เขาเริ่มบริหารจัดการ จนกระทั่งเขาทำกับผม จากเทคนิเชียน และ Sound Engineer จนมาเป็น Operation Manager ตอนหลังสุดเป็น ผอ. ฝ่ายบริหารจัดการและบอร์ดของบริษัทด้วย ในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา บริษัทจะเดินทางไหนหรือมีทิศทางอย่างไร เนี้ยวเป็นคนหนึ่งในกลุ่มของการช่วยตัดสินใจ เชื่อไหมว่า แกทำงานจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต แกยังไลน์มาบอกพวกเราว่า เฮ้ย คอนเสิร์ตแบบนี้ ถ้าตารางเป็นอย่างนี้ จะต้องทำยังไงบ้าง จนวันนั้นที่ผมไปหาที่โรงพยาบาลต้องบอกว่า ไม่ต้องห่วง พักก่อน เดี๋ยวน้อง ๆ ดูแทน แต่พอวันที่จะไปหาอีกวัน ได้ข่าวจากพี่สมศักดิ์ว่า ‘พี่เนี้ยวไปแล้ว…’ ผมนี่พูดอะไรไม่ออกเลย (ถอนหายใจ)

“แบบอย่างที่เนี้ยวให้กับคนรุ่นหลังคือ ด้านการทำงานเนี้ยวเป็นคนที่มีระเบียบวินัย ใฝ่รู้ ศึกษาเทคโนโลยี ก้าวเติบโตตลอดเวลา อย่างยุคสมัยเปลี่ยนจากแอนะล็อกเป็นดิจิทัลแล้วจะมีอะไรอีกก็ไม่รู้ เทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่ ๆ ทุกวัน เนี้ยวก็ให้ทุกคนระแวดระวังเรื่องนี้ โอเค พื้นฐานเทคโนโลยีต้องดี แต่การที่เราจะทำงานดี เราต้องเป็นคนที่มีระเบียบวินัย ใฝ่รู้ และฝึกทักษะตัวเองตลอดเวลาเพื่อให้เท่าทัน แล้วอีกเรื่องคือ การมีมนุษยสัมพันธ์และการสื่อสารกับคนอื่น จะเห็นว่าการที่เราจะทำงานอะไรกับคนอื่นเขา อย่าไปคิดว่าเรารู้มากกว่าเขา แล้วเราก็ไม่ต้องบอกเขา แต่หน้าที่ที่แท้จริงคือ เราต้องดูแลเขา และสอนให้เขาเรียนรู้ว่าควรจะรู้อะไร ด้วยวิธีการทำงานแบบนี้ เนี้ยวจึงเป็นคนที่ลูกค้ารัก รวมถึงลูกน้องก็เหมือนกัน เนี้ยวเป็นคนไม่มีศัตรูเลย และเป็นที่รักของทุก ๆ คน

“เนี้ยวเป็นคนที่เจเอสเอสฯ ภูมิใจมากที่สุดคนหนึ่ง ถ้าพูดในหลักสากลคือ น่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่ขึ้น Hall of Frame ของเจเอสเอสฯ ที่ผมจะจัดทำขึ้นในห้องประชุมผม เพราะถือว่าเนี้ยวอยู่ในใจของทุกคน”

มุ่งมั่น-รักในงานจนถึงวินาทีสุดท้าย
พี่ต้อม-เติมยศ เดชสุภา
รองประธาน บริษัท วัน ซีสเท็มส์ โปรดักชั่น จำกัด

มากกว่าเพื่อนร่วมงานที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมายาวนานคือ ความเป็นพี่เป็นน้องที่เดินมาพร้อม ๆ กัน และเติบโตบนเส้นทางเดียวกันกว่า 20 ปี ทั้ง 4 ขุนพลเสียงรุ่นใหญ่ จึงได้แต่เสียดายเสียใจกับการสูญเสียบุคลากรคนสำคัญที่ผูกพันกันดั่งญาติมิตร ขณะที่สองคนแรก พี่ต้อม-เติมยศ เดชสุภา และเล็ก ชลบุรี-ณัชทัศน์พล ผ่อนวัฒนา เป็นชาวเมืองชลฯ คนบ้านเดียวกันที่ได้มาสนิทชิดเชื้อและทำงานร่วมกันที่แจ็ค ซาวด์ โดยพี่ต้อมเข้าทำงานก่อน 5-6 ปี จนอีกสองคนหลัง พี่เลิศ-เลิศธน หายักวงษ์ เพื่อนสนิทตั้งแต่วันแรก ๆ ทำงานคู่กันมาในฐานะ Sound Engineer ประจำมอนิเตอร์ และอ๊อด-กฤษฎา โสตถิลักษณ์ ลูกน้องและลูกศิษย์คนหนึ่งของ “อาจารย์เนี้ยว” ที่ได้รับการสอนทั้งระบบตั้งแต่ไม่มีพื้นฐานจนสามารถประกอบอาชีพเป็น Freelance Sound Engineer ได้ถึงทุกวันนี้

“เนี้ยวเป็นคนเงียบ ๆ รักในการทำงาน และมีความรับผิดชอบสูง ในฐานะที่เป็นคนเมืองชลฯ เหมือนกัน ก่อนหน้านั้นรู้จักกันในแวดวงเด็กที่ทำเครื่องเสียง แต่ไม่มาก กระทั่งมีโอกาสมาทำงานให้กับแจ๊ค ซาวด์ด้วยกัน โดยผมเข้ามาก่อนในปี 2529 ส่วนเนี้ยวมาประมาณปี 2534 จึงรู้จักกันมากขึ้น เวลาพูดถึงเนี้ยวก็จะนึกถึงการทำงานสมัยก่อนที่ทำงานเหมือนกันหมด ที่เราเรียกว่าเลเบอร์ คือทำงานด้วยแรง เพราะว่าเมื่อก่อนไม่ได้แบ่งฝ่ายกันชัดเจน ทำทุกอย่างเหมือนเป็นคอนวอยเลย ทำทุกอย่างที่ขวางหน้า ตามที่เราได้รับมอบหมาย แบกเครื่อง เซตเครื่อง เก็บเครื่อง ทำความสะอาดเครื่อง ทุกสิ่งทุกอย่าง เรามีการทัวร์ต่างจังหวัด ออนทัวร์ ทำคอนเสิร์ตทุกอย่าง จนมีโอกาสได้สัมผัสทำงานอินเตอร์เนชันแนล จากการทำงานร่วมกันอย่างนั้น จึงทำให้รู้สึกไม่ใช่เป็นเหมือนพนักงาน แต่เป็นพี่เป็นน้องกันมากกว่า กระทั่งตอนหลังที่มีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจน ซึ่งเนี้ยวเองเป็นคนที่ทำงานในระดับคอนเสิร์ตได้หลากหลาย โดยเฉพาะการวางซิสเตมเนี้ยวจะชำนาญมาก แบบอย่างที่อยากให้คนรุ่นหลังได้รู้จักคือ ความเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นในการทำงาน แล้วรักในงานที่ตัวเองทำจนถึงวินาทีสุดท้าย”

แบบอย่างเรื่องวินัย-ความรับผิดชอบ
เล็ก ชลบุรี-ณัชทัศน์พล ผ่อนวัฒนา

“ระยะเวลา 20 ปีที่ได้ร่วมงานกันมา กินนอนอยู่ในห้องเดียวกัน ถึงวันนี้ถึงแม้ทำใจแล้วก็ตาม แต่พอต้องจากกันจริง ๆ ก็ใจหายเพราะแกไม่ใช่คนธรรมดานะ พ่ี่เนี้ยวแกเป็นเหมือนพ่อ พี่ เพื่อน ครูบา-อาจารย์ ทุกอย่าง ซึ่งคิดว่าคงไม่มีอีกแล้ว และหายากมาก ๆ ที่จะเจอคนอย่างแก ก็รู้สึกเสียใจและเสียดายในความรู้ความสามารถที่แกมีอยู่ ที่บอกว่าพี่เนี้ยวเป็นเหมือนพ่อ คือให้คำปรึกษาให้การช่วยเหลือในยามที่เราลำบากขัดสนตกอับ แม้กระทั่งช่วงที่ผมเคยออกจากบริษัทไปทำฟรีแลนซ์รับจ้างทั่วไป แกก็ยังเป็นห่วงโทรถามบ่อย ๆ จนตอนหลังพอแกรู้ว่าอยู่ลำบาก แกก็ดึงกลับมา แล้วก็ช่วยเรื่องความเป็นอยู่ของลูกหลานครอบครัวผมด้วย รวมถึงอาชีพการทำเสียงก็อุ่นใจที่ทำให้เรารู้สึกว่า ไม่ได้เดินทางสายนี้ลำพัง อย่างน้อย ๆ มีผู้หลักผู้ใหญ่ครูบา-อาจารย์คอยช่วยเหลือดูแลเราอยู่ห่าง ๆ ในด้านการเรียนรู้ พี่เนี้ยวเป็นคนเปิดกว้างมาก เพราะถ้าในแง่งานไลฟ์คอนเสิร์ต ผมเริ่มก่อน แต่พี่เนี้ยวเน้นด้านงานติดตั้งเครื่องดนตรี เรื่องวิชาความรู้ ใครถนัดอะไรก็แลกเปลี่ยนกัน ถือว่าไม่มีใครดีกว่าใคร ทำให้เราสนิทใจเหมือนญาติคนหนึ่งเลย

“ในแง่ของการเตรียมงานด้านโพรดักชัน ส่วนมากเป็นพี่เนี้ยวที่คอยประสานกับลูกค้า พอได้โพรเจกต์หนึ่งมา แกก็จะทำรายละเอียด แล้วแจกแจงให้กับลูกน้อง ‘ยูคุณทำตรงนี้นะ’ แกสามารถแยกแยะงานให้ตรงกับคนได้ แกจะรู้ว่าคนไหนถนัดอะไรยังไง แบบอย่างที่สุดให้คนรุ่นหลัง ผมว่าเป็นเรื่องของวินัย ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ต่องานที่ได้รับมอบหมาย เรื่องความมุ่งมั่นในการงานถือว่าเกินร้อย”

ทุ่มเท ขยัน และเอาใจใส่น้อง ๆ
เลิศ-เลิศธน หายักวงษ์

“เริ่มรู้จักกันที่แจ๊ค ซาวด์ ผมเข้ามาอยู่ก่อนแล้ว เนี้ยวตามมาทีหลัง ช่วงคอนเสิร์ตเพ็ญพักตร์ ศิริกุล กับอำพล ลำพูน เลยทัวร์ด้วยกันตลอด 15 จังหวัด อยู่ประมาณเดือนกว่าแล้วก็ทำงานคลุกคลีกันมาตลอด เป็นทั้งเพื่อนร่วมงานและคนที่พูดคุยกันได้ทุกเรื่อง ตอนเข้ามาใหม่ ๆ ก็แนะนำเรื่องการมิกซ์เสียงบ้าง เพราะมีชิ้นส่วนอุปกรณ์บางอย่างที่ใหม่ ๆ ยังไม่คุ้นก็แนะนำกัน เนี้ยวเขาเก่ง เขาไว ตอนนั้นผมก็มิกซ์แล้ว เนี้ยวอยู่เฮาส์ ผมอยู่มอนิเตอร์คู่กัน เวลาทำงานอะไรดังไปเบาไปก็จะบอกกัน แนะนำกัน มีบางสิ่งบางอย่างก็แลกเปลี่ยนคุยกันได้ อย่างตอนงาน ‘เจ็ดสีคอนเสิร์ต’ เนี้ยวอยู่เฮาส์ ผมอยู่มอนิเตอร์มิกซ์ แล้วทำงานคู่กันแรก ๆ พอหลัง ๆ ให้เด็กไปแทน โดยสอนเด็กขึ้นมาทีละชุด ๆ ฝึกเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมา

“แบบอย่างคนรุ่นหลังคือ เรื่องการทำงาน ทุ่มเท ขยัน และเอาใจใส่กับน้อง ๆ การกิน การอยู่ การทะเลาะวิวาท มีเงินใช้หรือเปล่า เนี้ยวเป็นคนใจดีเรื่องพวกนี้ มีอะไรน้อง ๆ ก็ไปหา แล้วเนี้ยวก็เป็นที่ปรึกษาทางใจให้กับน้อง ๆ แม้แต่เรื่องลาหยุด เด็กก็จะไม่กล้ามาลากับผม ก็จะไปบอกกับเนี้ยว แล้วเนี้ยวก็มาบอกผมว่า คนนี้มันมีธุระนะ ถ้าได้แล้วถึงมาลาอย่างเป็นทางการ ตอนนั้นผมเป็นคนอนุญาตให้ใครหยุดใครลา เหมือนหัวหน้าคนงานทั่วไปคอยจัดคนออกงาน ใครหยุด ใครไปงาน หรือลา เพราะผมเป็นคนดุ คนตรง ใครมาสายก็ไม่ต้องรอให้ไปงานเลย อยากมาก็ตามมามากกว่า แต่เนี้ยวเป็นคนใจดี ใจเย็น น้อง ๆ ก็เลยรัก

“ที่สุดของที่สุดถ้าพูดถึงเนี้ยว นึกถึงครั้งที่ไปเชียงใหม่ คอนเสิร์ตเพ็ญพักตร์ ศิริกุลและอำพล ลำพูน วันนั้นช่วงก่อนวันเอิร์ธเดย์ พายุมา แผงสังกะสี ทรัส ไฟอะไรต่าง ๆ บนเวที คนอื่น ๆ ก็พากันกระโดดลงหมดเลย เหลือแต่เนี้ยวอยู่เฮาส์ ยกมิกซ์อยู่คนเดียว ตัวก็ไม่ใช่ใหญ่นะ ประมาณเท่าเดิมอย่างที่เราเห็นนี่แหละครับ แต่ยกมิกซ์ตัวใหญ่ไหว กลายเป็นความประทับใจจากคอนเสิร์ตนั้นเป็นต้นมา ว่าคนนี้ทุ่มเทและรักของในอาชีพเขาจริง ๆ”

“ในชีวิตนี้ถือว่าโชคดีที่ได้มาเจอกับพี่เนี้ยว”
แจ๊ค ซาวด์กู๊ด-วิฑูรย์ สำเร็จผล

ด้วยการดูแลสอนสั่งของพี่เนี้ยว เด็กหนุ่มจากนครปฐม จาก “เด็กดื้อ” กลายเป็น “เด็กเอาการเอางาน” เรียนรู้และช่างถาม อีกทั้งได้รับโอกาสในการทำงานจนพัฒนาความสามารถก้าวสู่ Sound Engineer ระดับมืออาชีพได้ แจ๊ค ซาวด์กู๊ด-วิฑูรย์ สำเร็จผล ยอมรับว่า ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปเมื่อได้เจอพี่เนี้ยวหลายเรื่อง และกลายเป็นความทรงจำที่ดีตลอดไป

“เวลาพูดถึงพี่เนี้ยวนึกถึงตอนที่อยู่ที่บริษัท เลิกงานทุกคนกลับหมดแล้ว ผมกินนอนอยู่ที่ออฟฟิศ ก็จะเอาอุปกรณ์ต่าง ๆ ออกมาทดลองปรับใช้ เพราะตอนนั้นเข้ามากรุงเทพฯ ใหม่ ยังไม่รู้จักเครื่องไม้เครื่องมืออะไร ก็พยายามหยิบจับมาทดลอง โดยมีพี่เนี้ยวนั่งอยู่อีกห้องหนึ่ง ทำงานของแกไป พอเราติดขัดตรงไหนก็จะถาม แล้วอีกจุดหนึ่งก็คือ วันที่แกบอกว่า ‘ยูต้องเป็นเอนจิเนียร์ได้แล้ว’ คือส่งให้เราไปมิกซ์เสียงตามงานต่าง ๆ

“ชีวิตเปลี่ยนตั้งแต่เจอพี่เนี้ยว ตอนแรกผมไม่รู้หรอกว่าพี่เนี้ยวเป็นใคร ไม่มีข้อมูลเลย แต่พอวันหนึ่ง พี่พิทักษ์ที่เป็นเจ้านายพ่อ พามาเจอพี่เนี้ยว บอกว่า นี่ไม่ใช่การฝากงานนะ ไปดูกันเอง พี่เนี้ยวก็ให้ลองงานอยู่สองงาน งานแรกที่ มธ. ท่าพระจันทร์ พี่เนี้ยวก็ให้ทำเหมือนพนักงานเลย คือไปดูแชนเนลซึ่งมันสำคัญมากกับงานที่ต้องเปลี่ยนวงหลาย ๆ วง ตอนนั้นไม่รู้เรื่องเลย อย่างซับบอกซ์ก็ไม่รู้จัก ก็อาศัยถามพวกพี่เล็ก พี่อ๊อด อีกวันก็ให้ไปอีก เป็นคอนเสิร์ตปราโมทย์ วิเลปะนะ ที่ภัทราวดีเธียเตอร์ พอเสร็จจากงานนั้นพี่เนี้ยวก็บอกว่า ‘เดี๋ยววันจันทร์เข้าไปคุยที่ออฟฟิศ’ เราก็ตกใจ ‘พี่วันจันทร์ 16 เมษาฯ ยังหยุดงานไม่ใช่เหรอ?’ พี่เนี้ยวก็บอกว่า ‘บริษัทเราทำงานไม่มีวันหยุด’ ก็อึ้ง แต่ก็ไปนั่งคุย แล้วแกก็บอกว่า ‘เออ…เดี๋ยวลองทำงานดูแล้วกัน’ ตกลงเงินเดือนแล้วเลยบอกแกว่า ‘พี่ผมไม่มีที่พัก ที่ออฟฟิศมีที่นอนไหม’ ตอนนั้นมีห้องหนึ่งที่พี่เนี้ยวอยู่กับพี่เล็กและพี่ชู ด้วยความใจดี
แกก็บอกว่า ‘เออ มึงมานอนกับกูนี่แหละ’ โดยไม่ปรึกษากับอีกสองคนเลย อยู่อย่างนั้นมาประมาณสามปี กินนอนด้วยกัน ทำงานด้วยกัน ใช้เวลาอยู่กับพี่เนี้ยวกับพ่ี่เล็กมากกว่าที่บ้านอีก พอวันหนึ่งเราออกจากบริษัทมา เราไม่รู้สึกว่าเราเป็นอื่นเลย อาจไม่ได้เป็นลูกน้องของพี่เนี้ยวแล้ว แต่ความเป็นพี่เป็นน้องยังมีอยู่

“ด้านความรู้ก็เปลี่ยนเหมือนกัน จากไม่รู้เองอะไรเลย เด็กดื้อ เกเรจริง ๆ แล้วไม่ยอมเรียนรู้ในช่วงแรก ๆ ตอนแรกพี่เนี้ยวก็เอือมนิดหนึ่ง อย่างภาษาอังกฤษพื้นฐานเราไม่ดี ด้านเทคนิคก็ไม่ได้ จนพี่เนี้ยวก็คงจะโมโหอะไรสักอย่าง คือแกจะมีดิกชันนารีของแกอันหนึ่ง แกก็โยนดิกฯ ให้ ‘มึงแปลไปตามดิกฯก่อน แต่ในศัพท์ช่างมันไม่ตรงตัวหรอก มึงต้องวาดภาพขึ้นมาเอง’ คือบางทีดิกชันนารีมันแปลจะไม่ตรง เราก็งง โมโห ไม่เอา กินเหล้าดีกว่า

“ตอนแรกผมเข้าไปก็เกเร เป็นเด็กห้าว ๆ ก็จะมีคนไม่ชอบผมบ้าง แต่พี่เนี้ยวเป็นคนปกป้อง เพราะแกคงเห็นอะไรบางอย่าง ‘ดูมันไปก่อน เชื่อสิมันทำได้’ นั่นล่ะครับ แล้วก็เรื่อยมาถึงเรื่องส่วนตัว แม้กระทั่งตอนผมอยากซื้อบ้าน ต้องมีเงินจอง อะไรก่อน กะกู้ร้อยเปอร์เซ็น ก็มาขอยืมพี่เนี้ยวสองหมื่นบาท พี่เนี้ยวไม่ถามอะไรเลย ถามแค่ว่า ‘ต้องการใช้เงินเมื่อไหร่’ แล้วแกก็โอนให้เลย พอถึงเวลาผมก็โอนคืนแก ‘เรื่องเงินเรื่องทองกับพี่น้อง กูช่วยได้ครั้งเดียว แล้วแต่ใครจะเอาไปทำประโยชน์อะไร’ พี่เนี้ยวบอกอย่างนั้น ก็ผูกพันกันมา ที่บ้านพอรู้ข่าวพี่เนี้ยว ทุกคนก็เสียใจเหมือนกันหมด เพราะแกไม่ได้เปลี่ยนแค่ผม แต่เปลี่ยนไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวผมเลย

“ส่วนก้าวต่อ ๆ มาถึงแม้แกไม่ได้อยู่ร่วมทางไปทุกครั้ง แต่ก็ร่วมแสดงความยินดีเสมอ เวลามีปัญหาอะไรก็โทรไปปรึกษาแก ตอนที่ออกมาทำงานเป็นฟรีแลนซ์ใหม่ ๆ ก็ไม่เข้าใจโลกอะไรหลายอย่าง คือจากเป็น Supplier มาเป็น Sound Engineer อิสระ แกก็คอยสอนวิธีการดำเนินชีวิตและวิธีการทำงาน ‘เฮ้ย ยูต้องใจเย็น ลดอีโกลง ตอนเป็น Supplier ยูได้เปรียบ มีของในมือ ตอนนี้ยูตัวคนเดียว ต้องไปยืมของเขาใช้’

“สิ่งที่เป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลังก็คือ วิธีการทำงานบนวิถีแห่งการมิกซ์ของ Sound Engineer หลัก ๆ เลยผมว่าเรื่องความใส่ใจเรื่องรายละเอียด พี่เนี้ยวเป็นคนเก็บรายละเอียดได้เยอะมาก เก่งมาก แม้กระทั่งสายไมค์แกก็ไปนั่งม้วน คือมันไม่ใช่แค่รายละเอียดในการมิกซ์ แต่พี่เนี้ยวใส่ใจแม้กระทั่งเวลาที่ลูกค้าหรือคนดูมองมาที่อุปกรณ์ของเรา ต้องดูสะอาด เพราะใช้ของทำมาหากิน พร้อมทำงานอยู่เสมอ มีเวลาว่างตรวจเช็ก ที่ผมนำมาใช้ส่วนใหญ่เป็นวิธีปฏิบัติกับลูกค้า แกจะมีวิธีการพูดและรับมือกับลูกค้าในแบบที่่นิ่มนวล ในชีวิตนี้ถือว่าโชคดีมากที่ได้มาเจอกับพี่เนี้ยว”

ไอดอลผู้ทุ่มเทแรงกายใจให้กับการทำงาน
อ๊อด-กฤษฎา โสตถิลักษณ์

“พี่เนี้ยวเป็นทั้งครูและพี่ที่ใจดี คอยสอนให้เราอยู่ในร่องในรอย คอยดูแลน้องอย่างดี เพราะแกรู้จักพ่อผมด้วย เป็นคนสอนผมทุกเรื่อง การสอนของพี่เนี้ยวก็ออกสไตล์ผู้ชาย ๆ คือสอนกึ่งด่าครับ ตรงนี้สิ ๆ งานที่ได้ไปทำตอนนั้นก็เป็นเจ็ดสีคอนเสิร์ต พอมีงานก็เรียนรู้ จากกงานที่ทำ ดูแกทำ แล้วแกก็สอนงานด้วย ตอนนั้นพี่เนี้ยวอยู่หน้ามิกซ์แล้ว ผมก็ยังเป็นเด็กน้อยอยู่ ยกเครื่อง ทำหมดทุกอย่าง พี่เนี้ยวสอนทั้งระบบ ทั้งเรื่องการมิกซิง วายริง สอนตั้งแต่ผมไม่เป็นอะไรเลย จนสามารถมาประกอบอาชีพได้ถึงทุกวันนี้ คำสอนหนึ่งที่นำมาใช้อยู่ทุกวันนี้ก็คงเป็นเรื่อง ‘อย่าไปอวดเก่งกว่าใครเขา’ อยู่ในสังคมตรงนี้ก็ต้องทำตัวถ่อมตัวบ้าง สิ่งเหล่านี้พี่เนี้ยวก็ไม่ได้บอกตรง ๆ แต่ทำให้เห็น แบบอย่างของพี่เนี้ยวสำหรับผมและรุ่นต่อ ๆ ไปก็เรื่องทำงานครับ เป็นไอดอลที่ทุ่มเทให้กับการทำงาน”

แบบอย่างในการทำงานละเอียด
โบ๊ท-อนุสรณ์ ปิติวัฒนพันธ์

“พี่เนี้ยวเป็นคนใจดี นอกจากให้ความรู้แทกติกต่าง ๆ ในการทำงานแล้ว ยังช่วยเหลือน้อง ๆ ทุกอย่าง ไม่ว่าปัญหาเรื่องการงาน เรื่องส่วนตัว แกก็จะคอยช่วยเหลือตลอด การสอนของพี่เนี้ยว จะไม่สอนตรง ๆ แต่สอนอ้อม ๆ คอยบอก คอยดูอยู่ห่าง ๆ เพื่อให้เราได้ลองทำจริง ๆ ‘เฮ้ย…มึงลองอย่างนี้ดูสิ’ อันนี้เป็นคำพูดที่ได้ยินบ่อย ๆ ถ้าอันไหนที่ไม่ดี แกก็จะบอกว่าไม่ได้ก็คือไม่ได้ ก็ต้องแก้ นอกจากหน้ามิกซ์แล้วเรื่องอื่น ๆ ก็สอนด้วย บางทีแกศึกษาข้อมูลมา แล้วก็ให้พวกเราไปทดลองดูเป็นยังไง แล้วก็เป็นที่ปรึกษาของน้อง ๆ อย่างเวลารับโจทย์จากลูกค้ามาดีไซน์ดูแล้วแปลก ๆ ยาก ๆ อย่างลำโพงยี่ห้ออื่นที่แกเคยทำมาก่อน แกก็คอยชี้แนะบอกตลอด ส่วนการรับมือกับปัญหา แกจะนิ่ง ๆ แล้วค่อย ๆ คุยกับลูกค้าและกับเรา ไม่ได้มีความกดดันอะไรมาก

“ด้านการทำงาน พี่เนี้ยวเป็นคนทำงานค่อนข้างละเอียด กระทั่งเราออกไซต์งานหรือเราทำงาน แกจะคอยดูน้อง ๆ ทุกตำแหน่งที่ทำงาน คอยตรวจคอยเช็ก อะไรดีไม่ดี ไม่ถูก ต้องแก้ เป็นคนที่คอยดูแลน้อง ๆ คอยชี้แนะ คอยโพรเทกต์น้อง ๆ ทุกอย่าง แบบอย่างที่ได้นำมาใช้ในการทำงานคือ การทำงานที่ละเอียด แล้วค่อนข้างคิดไปไกล หลาย ๆ สเต็ป คิดทางเลือกเผื่อไว้ พี่เนี้ยวเป็นทุกอย่าง ทั้งพี่และครู ถ้าแนวเพลง ผมว่าแกต้องเป็นแจ๊สนิ่ม ๆ”

มากกว่าเรื่องเสียง คือ กิริยามารยาทการทำงาน
นูน-จักรี บุญเรือง System Technician

“ผมได้มีโอกาสทำงานที่เจเอสเอสฯ ตั้งแต่สมัยฝึกงาน แต่เพราะไม่ได้เรียนด้านระบบเสียงมาโดยตรง ต่อมาจึงได้รับการบรรจุงานทำด้านทั่วไปก่อน จึงมาเริ่มต้นที่นี่ใหม่หมด โชคดีที่ได้เจอพี่เนี้ยวครับ พี่เนี้ยวเป็นคนอัชฌาสัยดี สอนงานผมทุกเรื่อง ตั้งแต่เสียบสายลำโพง และถ้าอยากรู้เรื่องอะไร แกจะบอกหมด พูดยาวเลย แกก็สอนหมด แล้วได้นำมาใช้ทั้งหมด นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องกิริยามารยาทการทำงานต่าง ๆ ไม่ว่าการพูดคุย การรักษาเรื่องเวลา และทุก ๆ อย่าง ถ้าอันไหนไม่ดี ไม่ได้ แกก็จะบอกว่า ‘เอ๊ะ มันไม่ได้นะครับ’ อย่างครั้งแรกงานเจ็ดสีคอนเสิร์ตประมาณปี 2549-2550 ผมเข้ามาแรก ๆ ก็โดนเลย ‘เฮ้ย…นูนทำอะไรอยู่ เพื่อนเขาไปแล้ว มัวแต่ผูกรองเท้า ไม่เร่งไม่รีบเลย’ เราก็จะจดจำมาตลอด สิ่งที่พี่เนี้ยวสอน ผมก็ได้นำมาใช้กับชีวิตทุกเรื่องครับ โดยเฉพาะการทำเสียงไม่ใช่แค่เรื่องเสียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ชีวิตให้ดีด้วย”

Super Compromise
ป๊อก-สุทัศน์ ก่อเกียรติ
บริษัท มิสเตอร์ทีม โปรดักชั่นส์ จำกัด

“พี่เนี้ยวเป็น Super Compromise แต่ Workable รู้ว่าจะทำงานยังไง และมีจิตวิทยาดี ทำให้คนทำงานรู้สึกอุ่นใจ มั่นใจ กับพี่เนี้ยวก็รู้จักกันมานาน แกเป็นไพโอเนียร์รุ่นแรก ๆ ที่มาทำงานไลฟ์ซาวนด์ตรงนี้ ซึ่งแกจะไม่ค่อยปรากฏตัวในเรื่องของสื่อของอะไร แต่ทุกคนจะรู้ว่า ไปหาพี่เนี้ยว แกใจดี ไม่โดนด่าแน่นอน ถ้ามาหาผมโดนด่า อันนี้ยอมแพ้เขา (หัวเราะ) ก็ด้วยความที่อยู่มานาน แล้วคอมโพรไมซ์ แล้วเทคนิคัลค่อนข้างสูง ดูแลได้หมด ด้านการแลกเปลี่ยนแนวคิดหรือเทคนิคด้านระบบเสียง ก็มีการคุยกันเรื่องเทคโนโลยีในหลายครั้งหลายคราวว่ามันจะเป็นไปอย่างไร เวลาเจอกันก็จะเริ่มคุยประมาณว่า เมื่อก่อนนะมันดีอย่างโน้นอย่างนี้…ซึ่งเป็นปกติอยู่แล้ว แกก็มีวิชันดี ๆ ของแก ก็ยังบ่น ๆ อยู่ว่า จะอัปเกรดมิกซิงคอนโซลจากพวกเรา แล้วก็ไม่ทันซะแล้ว ครั้งนี้ก็ถือว่าสูญเสียบุคลากรคนสำคัญอีกหนึ่งคน ก็น่าเสียดายครับ”

คนที่รู้และได้เลือกทำสิ่งที่ตัวเองรัก
แอ๊ด เท็นเยียร์สฯ-ชวลิต มหาวิริยะกุล

“ถ้าพูดถึงพี่เนี้ยว ข้อดีคือ เขาโชคดีที่ในชีวิตเขาเป็นคนชอบซาวนด์ และได้เลือกทำอาชีพในสิ่งที่เขาชอบ เพราะฉะนั้นเรื่องผลตอบแทนหรือเม็ดเงินตามมาทีหลังอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ชอบ ก็เลยไม่ได้รู้จักเวลาใช้ชีวิตส่วนตัว เวลาเจอเขาบ่อย ๆ ก็พูดบ่อย ๆ ว่าเที่ยวบ้างนะ อะไรบ้างนะ ไม่ใช่เจอกันอยู่ตรงหน้างานตลอดเวลา แต่ไม่ใช่ว่าไม่ให้ความสำคัญกับงานนะ เพียงแต่มันต้องบาลานซ์ให้เหมาะสม เพราะจริง ๆ ชีวิตคนเราทุกคนไม่ได้เกิดมาเพื่อทำซาวนด์ เราแค่ทำมาหากินเลี้ยงชีพ แล้วก็ทำในสิ่งที่เราชอบเรารัก แต่ครอบครัวเป็นชีวิตจริง เพราะฉะนั้นต้องหาบาลานซ์ให้เจอทุกคน แต่เนี้ยวก็คงมีความสุขแหละครับ

“ยังไงก็ตาม ถือว่าโชคดีมหาศาล คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครได้ทำงานที่ตัวเองรักชอบเท่าไหร่ แต่เนี้ยวโชคดีตรงนั้น เพียงแต่ว่าเราก็เจอ ๆ กัน เที่ยวบ้างนะ อะไรบ้างนะ ที่มาคุยวิธีการใช้ชีวิต แต่เนี้ยวก็อาจจะรู้สึกว่า ได้ใช้ตามสมควรแล้ว ไม่มีอะไรผิดหรอก แต่อยากเห็นเนี้ยวมีครอบครัว เนี้ยวไปเที่ยวโน่นนี่มากกว่านั้น เพราะเรามีชีวิตเดียว แต่บาลานซ์ของแต่ละคนไม่เท่ากันอยู่แล้ว”

แบบอย่างของความเป็นมืออาชีพ
พี่ซัน ไลท์ซอร์ส-ธนาฒย์ ปิติพรเทพิน

 

“ผมกับเนี้ยวในช่วงหลังก่อนแกป่วยก็ไม่ค่อยได้เจอกันเท่าไหร่ แต่สิ่งที่สัมผัสได้ตลอดที่เคยทำงานร่วมกันมาก็คือ ความเป็นมืออาชีพ เคารพในงาน ไม่อวดตัว ไม่ข่มคนอื่น เอื้อเฟื้อต่อน้อง และไม่เคยเห็นแกแสดงอาการโกรธเคือง ด่าทอใคร ไม่ว่าปัญหาจะมีมาอย่างใด แกก็จะทำหน้าที่ที่แกรับผิดชอบจนสมบูรณ์”

 ใฝ่เรียนรู้ ตั้งใจ และรับผิดชอบสูงมาก
ยงยุทธ คำยอด

“ถ้าพูดถึงเนี้ยวแล้ว นึกถึงตั้งแต่สมัยโลกดนตรีและเจ็ดสีคอนเสิร์ตเลยครับ ตอนนั้นผมเป็นคนไปทำซาวนด์กับศิลปินต่าง ๆ เราก็ใช้ทีมแจ็ค ซาวด์มาเป็นทีมเสียงประจำของเรา แล้วไปเจอเนี้ยวเป็นคนทำซิสเตม ทำให้ผมทำงานได้ง่ายมากเลย เพราะเขาเซตไว้ทุกอย่างไว้ได้อย่างสมบูรณ์ บางครั้งอาจจะมีปัญหาบ้าง แต่ว่าเราก็คุยกันแก้ปัญหาช่วยกันโดยมีวิธีการที่เรียกว่า เนี้ยวรู้เรื่องเทคนิค ผมก็พอรู้เรื่องเทคนิคอยู่บ้าง ก็คุยเข้าใจได้ง่าย แบบอย่างสำหรับคนรุ่นหลังคือ เรื่องที่เขาใฝ่เรียนรู้ ตั้งใจทำงาน และมีความรับผิดชอบสูงมาก มาก่อนกลับทีหลังเป็นคนสุดท้าย แล้วมีอะไรเรียกหาได้ตลอด เนี้ยวเขาก็จะมาทันที นอกจากโลกดนตรี เจ็ดสีคอนเสิร์ตสลับกันไปแล้ว บางครั้งก็มีคอนเสิร์ตใหญ่ที่เอ็มบีเค เขาก็มาคุยวางแผนตั้งแต่ต้นเลย งานที่ได้ทำร่วมกันก็หลากหลาย ด้านเครื่องไม้เครื่องมือเทียบกับสมัยนี้ก็คนละโลกเลย เพราะยุคนั้นทุกอย่าง Fully Analog เวลามีปัญหาทางเทคนิคก็คุยกันช่วยกันแก้ปัญหาจนราบรื่น เนี้ยวเป็นคนสบาย ๆ ถ้าถามถึงสไตล์ชีวิตก็น่าจะเป็นร็อก แต่อาจจะร็อกแบบพงษ์พัฒน์น่ะ (หัวเราะ)”

ครูผู้สอนทัศนคติในการทำงาน
พี่บอย อินคา-วรวิทย์ พิกุลทอง

“กับพี่เนี้ยวได้เจอกันมานานมาก ในหลาย ๆ ฐานะ ตั้งแต่สมัยเป็นศิลปิน ทำงานอยู่ แกก็ซัปพอร์ตอยู่แล้ว ณ ตอนนั้น เรายังเด็กอยู่ก็ยังไม่รู้ว่า งานเบื้องหลังมีส่วนสำคัญยังไง จนกระทั่งหลังสุด เมื่อเราทำงานเบื้องหลังได้เจอแกบ่อย ๆ ขึ้น เริ่มจากประมาณ AF4 ก็ได้เริ่มทำงานเบื้องหลังและรู้จักกัน ก็เริ่มเห็นทัศนคติของแกที่ดีมาก ๆ เพราะการทำงานไซต์ใหญ่บางทีความชอบส่วนตัวหรือทัศนคติส่วนตัว การเก็บไว้ การไม่ชอบใครแล้วทำให้งานเป็นกลางได้นั้น เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกันกับการต่อสู้กับตัวเอง แต่พี่เนี้ยวเป็นหนึ่งในคนที่ทำได้

“จนกระทั่งมาเจอกันอีกทีหนัก ๆ เลย แล้วอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมเลย วิกฤตที่เกือบจะแย่แล้วงานหนึ่งที่เรียกว่า ถ้าปล่อยออกไปโดยไม่พวกเราซัปพอร์ต โห เสียชื่อกันไปหมด แม้กระทั่งตัวเจเอสเอสฯ เอง ในตอนนั้นเองเห็นวิธีการแก้ปัญหาของแกแบบนิ่มนวลและแบบที่เป็นกองหนุนจริง ๆ สุดท้ายงานนั้นก็รอดไปได้นะ Sound Engineer ในงานเขาก็มีสติพอในการประคองงานให้รอดไปได้ แต่วิธีการสแตนด์บาย วิธีการเข้าไป พร้อมชาร์จเปลี่ยนมือเลยของพี่เนี้ยว มันแนบเนียนมาก ทำให้เราเห็นอะไรบางอย่าง

“ส่วนตัวผมเองก็เคยเป็นมิวสิก ไดเรกเตอร์ในงานที่พี่เนี้ยวเป็นเทคนิเชียนและซิสเตมดีไซน์ แกมีความเป็นกลางมาก เราทำเพลงไปยังไง แกตีเจตนาเราออก แกจะไม่เอาความชอบส่วนตัวมากำหนดว่า ผมเป็น Sound Engineer ผมต้องปรับ พอแกฟังแล้วมันได้ก็คือได้ แล้วแกก็ทำจากเจตนาของเรา แล้วต่อยอดออกไป ซึ่งผมเองอยู่มายังทำไม่ได้เลยกับการต่อสู้กับทัศนคติของตัวเอง เราก็เลยยอมรับแกตรงนี้มาก จริง ๆ ผมไม่ได้สนิทกับแกมาก แต่ว่าที่ต้องมางานนี้ เพราะถือว่าเป็นบุคลากรคนหนึ่ง เป็นครูคนหนึ่งที่สอนเราเรื่องทัศนคติในการทำงาน การมองภาพงานให้มันเป็นกลางที่สุด เป็นตามจริงที่สุด ครั้งนี้ถือว่าสูญเสียบุคลากรที่ดีที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยไปอย่างเสียดาย

“จากงานใหญ่ งานยากที่เคยเจอ คือพี่เนี้ยวเป็นคนที่พร้อมที่จะทำงานร่วมกับคนอื่น ไม่ว่าสิ่งที่เราคิดจะเอียงไปด้านไหน
ก็คงไม่ถึงขนาดว่าผิด แต่อยู่ในความคิดเราว่ามันเป็นอย่างนี้ พี่เนี้ยวจะมีการเข้ามาตกลงก่อน เช่น มาฟังเสียงที่บ้านผมก่อน ห้องเล็ก ๆ ที่เป็น 7.1 แล้วแกบอกว่า โอเค เข้าใจตรงกันตรงนี้นะ แกก็บอกว่าเดี๋ยวผมจะทำแบบนี้ มันเป็นสเกลแบบอิมแพ็กต์ โอเค เข้าใจตรงกัน แล้วแกก็วาดตารางอะไรมาหนึ่งตาราง ซึ่งเราก็ดูไม่ออกหรอกว่าแกวาดอะไร (หัวเราะ) สุดท้ายมันใช่ มันก็คืออันที่บ้านเราแล้วก็ดังขึ้น โดยไม่มีความผิดเพี้ยนเลย หรือมีความผิดเพี้ยน ไม่รู้นะ แต่แกเดินไปแก้ ขยับให้มันใช่ ซึ่งแกเป็นแบบนี้ เป็น ‘คนปิดทองหลังพระ’ มานาน อันนี้ผมก็อยากให้คนได้รู้เหมือนกัน โดยเฉพาะคนรุ่นหลัง ๆ ได้รู้ว่า บางทีการอยู่ในฝ่ายซัปพอร์ต แม้ว่าเราจะปิดทองหลังพระยังไงก็ตาม ก็จะมีคนรู้ แล้วคนที่รู้ก็จะป่าวประกาศออกไปว่า งานตรงนี้มันมีตัวตน มีคุณสมบัติพิเศษบางอย่าง ที่เราต้องยกย่องเขานะ

“ในแง่ของการเข้ามาเปลี่ยนมือ เป็นฝ่ายซัปพอร์ต ฝ่ายหนุน แกรู้ว่าควรทำยังไง คือผมเคยอยู่ในวิกฤตอย่างนี้สองครั้งกับแก แกพร้อมสแตนด์บาย มายืนอยู่ข้างหลังคนมิกซ์เลย ถ้าหมอนี่ไม่ไหว แกก็คงมีวิธีเข้าไปเปลี่ยนมือแบบแนบเนียน แต่ทั้งสองงานก็ยังไม่เห็นวิธีเปลี่ยนนะ สุดท้ายคนที่มายืนตรงนั้น อาจจะแค่ตื่นเต้นหรืออะไรบางอย่าง สุดท้ายก็ผ่านไปได้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า พอทีมพวกนี้เข้าไปยืนข้างหลังแล้วคนทำงานตรงนั้นอาจจะรู้สึกอบอุ่น ว่ามีคนพร้อมซัปพอร์ต อาจจะเป็นแค่ทางจิตวิทยาให้เขามั่นใจขึ้น เขารู้ว่า โห เรามีกองหนุนขนาดนี้ ผมว่ามันอาจจะเป็นจิตวิทยา โดยเฉพาะเป็นพี่เนี้ยวด้วย ยิ่งสบายใจ

“ด้านสไตล์เพลง โอโห ผมว่าเลเวลพี่เนี้ยวแกเป็นได้ทุกสไตล์ แกเป็นมืออาชีพไง แล้วเป็นมืออาชีพในระดับที่เล่นอะไรก็ได้ ผมแปลงตัวให้เป็นอันนั้นได้มากที่สุด แล้วได้ใช่ที่สุด นี่คือพี่เนี้ยว ด้วยความที่ว่าแกเป็นอย่างนั้นได้ มันต้องผ่านการฝ่าฟันอคติของตัวเองเยอะมากนะ ผมไม่ใช่แจ๊ส ไม่ใช่ร็อก ผมเป็นอะไรก็ได้ ทำเท่าที่คนอยากให้ผมเป็น อยากให้งานดีที่สุด เพราะงานซัปพลายเออร์ต้องเป็นได้ทุกสไตล์อยู่แล้ว แกเป็นได้จริง ๆ”

แบ่งปันให้ความรู้-คำปรึกษาเต็มที่
คุณศักดิ์สิทธิ์ เสงี่ยมศรี

“กับพี่เนี้ยวผูกพันกันในงานบางสิ่งบางอย่าง ในแง่การให้ความรู้คนนี้ไม่มีหวงเลย ให้แบบเต็ม ๆ การให้คำปรึกษาไม่มีอั้น เต็มที่ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งออกแรงมาช่วยและหาคนมาช่วยด้วย เป็นที่ปรึกษาได้ทุก ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานระบบ งานติดตั้ง หรือแม้กระทั่งเปิดโอกาสให้ได้ไปดูในงานที่ทำ เราก็ได้มีโอกาสได้เห็นโพรดักชันเขา และร่วมงานกันที่มิวสิกรัน สามปีติดต่อกันแล้ว เฮียเนี้ยวก็เป็นคนเปิดโอกาสให้ งานนั้นได้มีโอกาสร่วมกันทำงานกับเครื่องเสียงระดับโลกที่เขามีกันอยู่แล้ว เราก็ได้ไปร่วมด้วย ที่สวนหลวง ร. 9 นอกนั้นมีอะไรก็พูดคุยกันทั่ว ๆ ไป แม้กระทั่งตลาดเครื่องเสียงในเมียนมา แกก็แนะนำเหมือนกัน แล้วก็เปิดกว้างให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ถือว่าเป็นบุคลากรที่มีส่วนผลักดันให้วงการเครื่องเสียงไทยมาได้ไกลถึงขนาดนี้”

ต้นแบบของ Sound Engineer
เล็ก ซาวด์ไลฟ์-คชา เกิดมีมูล

“พี่เนี้ยวเป็นทั้งพี่และครูที่ดีมาก อุ่นใจทุกครั้งที่ได้ทำงานกับพี่เนี้ยว เพราะพี่เนี้ยวจะซัปพอร์ตตลอดเวลา พี่เนี้ยวจะยืนข้าง ๆ เสมือนให้คำปรึกษาเสมอ ซึ่งทุกอย่างที่แกพูดมา เราเอาไปใช้เดี๋ยวนั้นได้เลย พี่เนี้ยวเป็นแบบอย่างในการทำงานของคนที่เกิดมาเพื่อบริการ เพื่อที่จะมาเป็นซาวนด์ เพื่อดูแลเรื่องอย่างนี้ แกไม่ได้เก่งแค่เรื่องระบบเสียงอย่างเดียว แต่แกเก่งในการสื่อสารกับคนที่มาทำงานด้วย ทำให้ใครต่อใครเกิดความรู้สึกอบอุ่นและอุ่นใจในการทำงานด้วย ทั้งที่งานนั้นอาจเครียดเรื่องระบบอะไรต่าง ๆ เพราะว่าเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ทั้งสิ้น แต่พี่เนี้ยวทำให้งานนั้นเป็นอีกงานหนึ่งที่ธรรมดามาก ผ่านไปได้แบบธรรมดา แล้วทุกอย่างดีสมบูรณ์แบบไปหมด นี่คือพี่เนี้ยวครับ”

Everything is Next Generation
คมคิดจาก พี่เนี้ยว-พิชัย แซ่โง้ว

ที่ผ่านมานิตยสารซาวด์ไดเมนชั่นได้สัมภาษณ์พี่เนี้ยวก็หลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นงานเบื้องหลังคอนเสิร์ต มีเพียงครั้งเดียวที่เล่าถึงแนวคิด ชีวิต และมุมมอง แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อถามถึงมุมชีวิต พี่เนี้ยวเล่าเพียงสั้น ๆ เน้นไปที่การงานเป็นหลัก และความเชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ ภายใต้หัวข้อ “เจนเนอเรชันต้องเปลี่ยน”

นี่คือส่วนหนึ่งที่ได้เล่าไว้ในครานั้น โดยเฉพาะแนวคิดการส่งไม้ต่อคนอีกรุ่น

…เรื่องพื้นฐานระบบเสียงต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้จากการอ่านหนังสือล้วน ๆ เอนจิเนียร์ฝรั่งก็บอกกับผมเองว่า เบสิกจากโรงเรียน 40% อีก 60% เป็นเรื่องของประสบการณ์และความชำนาญ ทฤษฎีก็มีส่วนนะ ผมไม่ได้เรียนเบสิกมา แต่เรื่องเบสิกผมดูจากหนังสือ และมาทางเอกซ์พีเรียนซ์ เวลาผมนั่งทำงานกับฝรั่ง ผมจะถามตลอดตอนจังหวะว่างจากงาน Why, Why แล้วก็ How to do ซึ่งเขาก็ตอบและให้ความรู้เราดีนะครับ คือเอนจิเนียร์ฝรั่งมันเหมือนกับเป็นความรู้สึกที่ดี คือเราทำงานให้เขาได้สมบูรณ์แล้ว ทำจนเขาพออกพอใจแล้ว เสร็จพอว่าง ผมก็เข้าไปคุยด้วย ผมก็ได้ตรงนั้นมาเป็นประสบการณ์ของเรา

…โลกของคนทำเสียงไม่ได้หวงวิชากัน จริง ๆ ผมอยากให้มีสมาคมด้วยซ้ำ จับมือกันและให้ความรู้ต่อยอดทางอื่นก็ดี คอนเซปต์ผมก็คือ เจนเนอเรชันต้องเปลี่ยน เพราะสักวันหนึ่งรุ่นผมก็ต้องไป

…เราเคยนับหนึ่ง-สอง-สาม เราบอกยูไม่ต้องมานับเหมือนคนรุ่นก่อน แต่ยูนับต่อจากเราเป็น สี่-ห้า-หกเลย ก็ง่าย ๆ ได้การพัฒนาที่ต่อยอดขึ้นเป็นเรื่องของ Next Generation
…แต่คนรุ่นใหม่ที่จะมา เราต้องปูพื้นฐานให้เขาแน่นหน่อย ถ้าเราปูพื้นเขาแน่นแล้ว เขาจะไปง่าย เพราะรุ่นเราเป็นแบบล้มลุกคลุกคลานมาแล้ว

…อันนี้เป็นความคิดของผมนะ ไม่รู้จะเป็นไปได้หรือเปล่า คือระดับเฮด ๆ คือแก่ ๆ แล้วก็ต้องรีไทร์ ก็มาเปิดเป็นสถาบัน Live Sound แล้วสอนโดยไม่คิดกำไร เอาแค่พออยู่ได้ ไม่ขาดทุน อะไรประมาณนั้น เพราะอย่าลืมว่า ต่อไปหลังจากนี้ มันจะเป็นเรื่องคนรุ่นใหม่ คลื่นลูกใหม่แล้วล่ะครับ

…เราต้องสร้างเจนเนอเรชันไปเรื่อย ๆ เพราะสักวันหนึ่งเราก็ต้องแก่และรีไทร์ ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า เพียงแต่ว่าที่ผ่านมา เรายังไม่มีโอกาสที่จะทำให้มาตรฐานมันคืออะไร ถ้าทำกันจริง ๆ ก็ยินดีร่วมด้วย ก็คือสร้างมาตรฐาน ปรับให้ทุกคนเข้าใจในมาตรฐานเดียวกัน ปัญหาอย่างหนึ่งคือ ไม่มีเซนเตอร์ คือความคิดความรู้สึกอาจพ้องกัน แต่ต่างคนต่างทำงานเท่านั้นเอง เลยหาเซนเตอร์ไม่เจอ ผมถึงบอกว่า Everything is Next Generation

แสดงความคิดเห็น