TV Studio ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะถูกออกแบบให้สามารถรองรับการใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ ได้ อาทิเช่น สตูดิโอทีวีข่าว รายการ Talk Show รายการละครซิทคอมรวมทั้งเกมส์โชว์ประเภทต่าง ๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมกันมากในบ้านเรา ในขณะที่ห้องสตูดิโอแต่ละห้องก็มีข้อจำกัด ทั้ง ขนาดของห้อง และ ความจำเป็นของอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิต
สิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยให้การทำงานทางด้านงานระบบแสง สำหรับ TV Studio ขนาดเล็กสามารถรองรับการใช้งานที่หลากหลายได้ จากงานที่มีความซับซ้อน สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดแสงได้อย่างง่ายดายเพื่อให้เหมาะกับพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจง ได้ด้วย “เคล็ด (ไม่) ลับ สำหรับการจัดแสงในสตูดิโอขนาดเล็ก”
0 รายการข่าวสำหรับผู้ประกาศข่าว 1 ท่าน
(Single Anchor News Desk Setup)
การจัดแสงสำหรับรายการข่าวโดยที่มีผู้ประกาศข่าว 1-2 ท่านนี้ โดยส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่ในการถ่ายทำไม่มากนัก จะเป็นพื้นที่ลักษณะ “ครึ่งวงกลม” หรือ “สี่เหลี่ยม” ก็ได้ โดยการจัดแสงจะให้ความสำคัญไปที่จุด ๆ เดียวคือ “ตัวผู้ประกาศข่าว” แต่ในการจัดแสงนั้นต้องคำนึงถึง “องค์ประกอบของการจัดแสง”
ประกอบไปด้วย แสงหลัก (Key light) แสงลบเงา (Fill light) แสงหลัง (Back light) และแสงฉากหลัง (Background Lighting)
อีกสิ่งสำคัญคือ “ค่าความสว่างของแสง” ในแต่ละองค์ประกอบของการจัดแสงนั้น ๆ จะต้องมีค่าที่เพียงพอและมีความสมดุลเพื่อให้เกิดมิติของภาพที่ถ่ายทำผ่านกล้องวีดีโอ
จากรูปประกอบ มี Object หลัก ๆ เพื่อการจัดแสงก็คือ “ตัวผู้ประกาศข่าว”
จะเห็นว่ามีโคมไฟที่ใช้ในการจัดแสงอยู่ 4 โคม คือ โคมไฟหลัก (Key Light) ซึ่งจะติดตั้งอยู่ด้านหน้าของผู้ประกาศข่าว และอยู่มุมเดียวกับกล้อง เพื่อใช้ใน “การส่องสว่าง” ให้กับผู้ประกาศข่าว และจะใช้ โคมไฟเติม (Fill Light) จำนวน 2 ชุด ซึ่งจะติดตั้งอยู่ด้านข้างของโคมไฟหลัก เพื่อใช้ “ลบเงา” ที่เกิดขึ้นบริเวณ ใบหน้าและตัวผู้ประกาศข่าว และสุดท้ายก็จะมี โคมไฟหลัง (Back Light) ที่ติดตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของผู้ประกาศข่าว “ส่องสว่าง” บริเวณศีรษะไล่ลงมาถึงไหล่ทั้ง 2 ข้าง ของตัวผู้ประกาศข่าวเพื่อให้เกิดรูปทรง หรือเกิดมิติของแสงระหว่างตัวผู้ประกาศข่าวกับฉากด้านหลัง ส่วนฉากด้านหลัง ถ้าเป็นกรณีที่ใช้เทคนิค Chroma Key ก็ต้องคำนึงถึงการจัดแสงที่ฉากหลังด้วย ซึ่งจะพูดถึงต่อไป
0 รายการข่าวสำหรับผู้ประกาศข่าว 2 ท่าน
(Duo Anchor News Desk Setup)
การจัดแสงสำหรับรายการข่าวโดยที่มีผู้ประกาศข่าว 2 ท่านนี้ จะมีความแตกต่างจากการจัดแสงของรายการข่าวสำหรับผู้ประกาศข่าว 1 ท่าน เนื่องจากมี Object เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่ง นั่นก็คือ “ตัวผู้ประกาศข่าวคนที่ 2” ซึ่งการจัดแสงสำหรับรายการข่าวประเภทนี้ นอกจากต้องคำนึงถึงองค์ประกอบของการจัดแสง ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว
สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ “ความสว่างของแสงในแต่ละองค์ประกอบ” ของการจัดแสงสำหรับผู้ประกาศข่าวแต่ละคน จะต้องมีค่าความสว่างของแสงที่เพียงพอ ไม่มากเกินไป และไม่น้อยจนเกินไป เนื่องจากผู้ประกาศข่าวทั้ง 2 ท่านนั้นจะนั่งอยู่ใกล้ ๆ กัน ตำแหน่งและทิศทางของแสงในการส่องสว่างที่ผู้ประกาศข่าวทั้ง 2 คน ก็ต้องมี “ความสมดุล” เพื่อให้เกิด “มิติ” ของภาพที่ถ่ายทำผ่านกล้องวีดีโอ
จากรูปประกอบที่ 4 เราจะเห็นได้ว่า จะมี Object หลัก ๆ ในการจัดแสงอยู่ 3 ส่วนด้วยกันคือ ผู้ประกาศข่าวคนที่ 1, ผู้ประกาศข่าวคนที่ 2 และฉากด้านหลัง ซึ่งการจัดแสงในส่วนของผู้ประกาศข่าวทั้ง 2 คน จะมีการจัดแสงอยู่ 3 ส่วนด้วยกันคือ
ส่วนที่ 1 คือ ไฟหลัก (Key Light) ติดตั้งโคมไฟอยู่บริเวณด้านซ้ายของกล้อง จำนวน 2 ชุด เพื่อใช้ใน “การส่องสว่าง” ให้กับผู้ประกาศข่าว คนที่ 1 และคนที่ 2 เพื่อใช้เป็นแสงหลักในการถ่ายทำ และส่วนที่ 2 ไฟเติม (Fill Light) จะใช้โคมไฟจำนวน 2 ชุด ติดตั้งอยู่บริเวณด้านขวาของกล้อง เพื่อใช้ “ลบเงา” ที่เกิดขึ้นบริเวณใบหน้าของผู้ประกาศข่าวทั้ง 2 คน ซึ่งโคมไฟทั้ง 2 ส่วนนี้ (Key Light กับ Fill Light) ตำแหน่งในการติดตั้งโคมไฟจะต้องทำมุมกับกล้อง “ไม่เกิน 90 องศา” สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ การควบคุมทิศทางการส่องสว่างของแสง รวมไปถึงปริมาณค่าความสว่างของแสง Key Light และ Fill Light ที่ตกกระทบกับผู้ประกาศข่าวแต่ละคนนั้น ต้องไม่ให้รบกวนกันโดยเด็ดขาด
ส่วนที่ 3 ไฟหลัง (Back Light) ที่ติดตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของผู้ประกาศข่าวทั้ง 2 คน ซึ่งจะควบคุมการส่องสว่างของแสงให้อยู่ที่บริเวณผมและศีรษะรวมไปจนถึงไหล่ของตัวผู้ประกาศข่าวเพื่อให้เกิดรูปทรง หรือเกิดมิติของแสงระหว่างตัวพิธีกรกับฉากด้านหลัง ส่วนสุดท้าย ไฟฉาก ควรเลือกใช้ “โคมไฟที่ส่องสว่างเป็นบริเวณกว้าง” เพื่อควบคุมพื้นที่ในการส่องสว่างของฉากหลังได้ ส่วนฉากด้านหลังถ้าเป็นกรณีที่ใช้เทคนิค Chroma Key ก็ต้องคำนึงถึงการจัดแสงที่ฉากหลังด้วย ซึ่งจะพูดถึงต่อไป
0 Chroma Key ในงาน TV Studio
การจัดแสงสำหรับการทำ Chroma Key ในงาน TV Studio สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การให้ค่าความสว่างของแสงที่บริเวณฉากด้านหลังที่ต้องมีความราบเรียบสม่ำเสมออย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ของฉากหลัง การให้ค่าความสว่างของแสงที่ฉากหลังจะต้องใช้ความระมัดระวังเกี่ยวกับการให้ปริมาณของแสงที่ฉากหลัง ไม่ควรให้ปริมาณแสงที่มากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการล้นของแสงไปที่ตัวผู้ประกาศข่าวได้
จากรูปประกอบที่ 4 เราจะเห็นได้ว่า จะมี Object หลัก ๆ เพื่อการจัดแสงอยู่ 2 ส่วนด้วยกันก็คือ ส่วนของตัวพิธีกร และส่วนของฉากด้านหลังที่เป็นชนิด Green Screen ซึ่งจะเห็นว่าจะมีโคมไฟที่ใช้ในการจัดแสงอยู่ 2 ส่วนด้วยเช่นกัน อธิบายได้ดังนี้
-แสงในส่วนพิธีกร
การจัดแสงในส่วนพิธีกรนั้น นอกเหนือจากที่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบของการจัดแสงตามที่กล่าวไว้แล้ว อีกสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกันนั้นก็คือ “พื้นที่แสง” ในการถ่ายทำ หรือ “การเคลื่อนไหวของพิธีกร” ในตำแหน่งต่าง ๆ จากรูปประกอบที่ 5 จะเห็นได้ว่าจะใช้โคมไฟในการจัดแสงอยู่ 4 ส่วนด้วยกันก็คือ
ส่วนที่ 1 คือ ไฟหลัก (Key Light) ติดตั้งโคมไฟอยู่บริเวณด้านซ้ายของกล้อง เพื่อใช้ในการส่องสว่างให้กับพิธีกรเพื่อใช้เป็นแสงหลักในการถ่ายทำ
และส่วนที่ 2 ไฟเติม (Fill Light) จะใช้โคมไฟจำนวน 1 ชุด ติดตั้งอยู่บริเวณด้านขวาของกล้อง เพื่อใช้ลบเงาที่เกิดขึ้นบริเวณ ใบหน้าและตัวพิธีกร ซึ่งโคมไฟทั้ง 2 ส่วนนี้ (Key Light กับ Fill Light) ตำแหน่งในการติดตั้งจะต้องทำมุมกับกล้องไม่เกิน 90 องศา ส่วนที่ 3 ไฟเติมด้านข้าง (Side Fill) ซึ่งจะติดตั้งโคมไฟอยู่บริเวณด้านซ้ายและด้านขวาของตัวพิธีกร เพื่อใช้เป็นไฟเติมด้านข้างให้กับพิธีกรในกรณีที่มีการเคลื่อนย้ายตำแหน่งของกล้องในการถ่ายทำ
และส่วนสุดท้าย ส่วนที่ 4 ไฟหลัง (Back Light) ที่ติดตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของพิธีกร ซึ่งจะส่องสว่างบริเวณผมและศีรษะรวมไปจนถึงไหล่ของตัวพิธีกร เพื่อให้เกิดรูปทรง หรือเกิดมิติของแสงระหว่างตัวตัวพิธีกรกับฉากด้านหลัง
0 แสงในส่วนฉากหลัง
(Green Screen/Blue Screen)
การจัดแสงในส่วนนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงก็คือ “ความสม่ำเสมอของแสง” ทั่วบริเวณฉาก จะต้องไม่มี จุดสว่าง (Hot Spot) ของแสง หรือ เงาตกกระทบของแสงจากไฟส่องฉาก เป็นอันขาด เพราะจะทำให้เกิดปัญหาในขั้นตอนที่ทำเทคนิคซ้อนภาพได้
ควรเลือกใช้ “โคมไฟที่ให้แสงเป็นบริเวณกว้าง” และ “มีความสม่ำเสมอของแสง” ในการส่องสว่าง เช่น โคมไฟชนิด Soft Light หรือ Soft Box มาใช้งาน ซึ่งจำนวนของโคมไฟที่จะนำมาติดตั้งใช้งานนั้น ต้องขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ฉากหลังในการทำถ่ายทำด้วย
สิ่งที่ต้องระมัดระวังอีกเรื่องคือ การให้ “ปริมาณค่าความสว่างของแสง” ที่ฉากหลัง ไม่ควรให้ปริมาณแสงที่มากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการล้นของแสงไปที่ตัวพิธีกรได้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาคีย์ออกไม่หมด ขอบเลอะ หรือเงาหายได้